รีเซต

6 โรคขาดสารอาหารที่พบบ่อย ผมร่วง เล็บเปราะ หน้ามืด อาการที่ต้องระวัง

6 โรคขาดสารอาหารที่พบบ่อย ผมร่วง เล็บเปราะ หน้ามืด อาการที่ต้องระวัง
BeauMonde
9 พฤศจิกายน 2565 ( 13:02 )
1.3K

     อาหารที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สามารถทำให้เราเกิดโรคได้ ยิ่งโดยเฉพาะอาหารในปัจจุบันนี้ที่มักมีไขมันและแคลอรี่สูง แต่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำ ถึงแม้ว่าการกินอาหารเหล่านี้จะช่วยให้เราอิ่มท้องและมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่กลับไม่ส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว เนื่องจากจะทำให้เราขาดสารอาหารได้

     หากกล่าวถึงผู้ที่ต้องประสบกับภาวะขาดสารอาหาร หลายคนอาจมีภาพจำว่าต้องมาจากถิ่นธุรกันดารที่ขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง แต่แท้จริงแล้วภาวะขาดสารอาหารกลับเป็นภาวะที่พบเจอได้ในคนทั่วไปที่เลือกรับประทานอาหารได้ไม่ดีมากพอ จนส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รีบแก้ไข ก็อาจส่งผลไปถึงปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้  

 

ภาวะขาดสารอาหารคืออะไร ?

     โดยปกติร่างกายของเราจะต้องการวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดเพื่อการทำงานที่เหมาะสมและป้องกันโรค  ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้เราเรียกกันว่าสารอาหารรอง 

     ภาวะขาดสารอาหารจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเราไม่ได้รับหรือไม่สามารถดูดซึมสารอาหารรองเหล่านี้ได้ในปริมาณที่ต้องการ และหากปล่อยยืดเยื้อก็อาจนำไปสู่อันตรายได้ ร่างกายของเราไม่สามารถผลิตสารอาหารรองได้เอง จำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารรองเหล่านี้ผ่านทางการรับประทานอาหาร

     การขาดสารอาหารอาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตา การติดเชื้อ มะเร็ง เบาหวาน การอักเสบ โรคอ้วน และอื่น ๆ หรืออาจมีอาการไม่ปกติทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า ผิวสีซีด ง่วงนอน หายใจลำบาก ใจสั่น สมาธิไม่ดี รู้สึกเสียวซ่าหรือชาบริเวณข้อต่อ ผมร่วง หน้ามืดและมึนหัว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องป้องกันให้ดี วิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ๆ นั่นก็คือการพยายามกินอาหารให้หลากหลายและกินในปริมาณที่เพียงพอเพื่อที่จะได้เป็นการป้องกันเบื้องต้น

 

 

6 โรคขาดสารอาหาร

 

1. โรคขาดธาตุเหล็ก

     เมื่อร่างกายของเรามีธาตุเหล็กไม่เพียงพอในการผลิตฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ร่างกายก็จะเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้

     การสูญเสียเลือดอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการขาดเลือด เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องเสียเลือดในช่วงมีประจำเดือน แต่อีกสาเหตุในกาารขาดธาตุเหล็ก ก็อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางอย่างน้อยเกินไปก็ได้เช่นกัน

     นอกจากนี้โรคบางอย่างก็ทำให้เราเกิดภาวะขาดสารอาหารและขาดธาตุเหล็กได้ โรคที่กี่ยวกับช่องท้องบางอย่างก็ส่งผลต่อความสามารถของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหารลดลง ซึ่งแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด คือ การเสริมธาตุเหล็กและเสริมคุณค่าทางอาหาร ด้วยการกินอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก

อาการของการขาดธาตุเหล็ก

  • ผิวซีด เปลือกตาด้านในซีด บ่งบอกถึงภาวะโลหิตจาง
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก
  • เล็บเปราะ
  • อาการเจ็บหน้าอกและหายใจติดขัด พร้อมกับการเต้นของหัวใจอย่างรวดเร็ว 
  • มือเท้าเย็น
  • ลิ้นบวม ลิ้นอักเสบโดยไม่มีสาเหตุ
  • ปวดหัวและเวียนศีรษะ

 

 

2. โรคขาดไอโอดีน 

     การขาดสารไอโอดีนจะเกิดขึ้นเมื่อเราบริโภคไอโอดีนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคคอพอกและต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โดยผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะพร่องไทรอยด์มากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากขึ้น ได้แก่ ผู้ที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาไทรอยด์ และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ แม้แต่ผู้ที่ได้รับรังสีรักษาที่ต่อมไทรอยด์ ที่บริเวณคอหรือหน้าอกก็ยังมีความเสี่ยง รวมถึงสตรีมีครรภ์ก็อาจเกิดภาวะขาดสารไอโอดีนได้เช่นกัน

     วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการขาดสารไอโอดีน ก็คือการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหาร การบริโภคเกลือที่ได้รับการเสริมไอโอดีน อาหารทะเล สาหร่าย และโยเกิร์ต ก็สามารถช่วยเติมไอโอดีนให้กับร่างกายได้

     นอกจากไอโอดีน การบริโภคซีลีเนียมก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันระหว่างไอโอดีนและซีลีเนียม สารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์

อาการของการขาดไอโอดีน

  • โรคคอพอก ต่อมไทรอยด์โต
  • เหนื่อยล้า
  • ท้องผูก
  • หน้าบวม
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผิวแห้ง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ผมร่วง ผมบาง
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ความจำเสื่อม
  • น้ำหนักเพิ่ม อ้วนขึ้น
  • รู้สึกหนาวได้ง่ายกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

 

 

3. โรคขาดวิตามินบี

     B-complex หรือวิตามินบีรวม คือการรวมกันของกลุ่มวิตามินบีหลายชนิด ซึ่งวิตามินบีแต่ละชนิดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ  แและปัญหาการพร่องวิตามินบีตัวใดตัวหนึ่ง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพโดยรวมได้

     การขาดวิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน สามารถทำให้เกิดโรคเหน็บชาได้ และยังอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้สูงอายุ และผู้ที่ผ่านการผ่าตัดลดความอ้วน ก็จะมีความเสี่ยงสูง

     การขาดวิตามิน B3 หรือไนอาซิน ภาวะนี้มีลักษณะเฉพาะด้วยอาการท้องร่วง ภาวะสมองเสื่อม และ โรคผิวหนังไวต่อแสงแดด และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้

     การขาดวิตามิน B7 หรือไบโอติน ทำให้ผมบางและมีผื่นขึ้นรอบดวงตา จมูกและปาก นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชัก

     การขาดวิตามิน B12 หรือโคบาลามิน อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก และปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมได้คือภาวะซึมเศร้าและสับสน

     โฟเลตก็เป็นวิตามิน B-complex อีกตัวหนึ่ง ซึ่งหากร่างกายขาดไปอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ อาการต่างๆ ได้แก่ อ่อนแรง ไม่มีสมาธิ และหายใจลำบาก รวมถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

     ในผู้หญิง การขาดโฟเลตจะเพิ่มความเสี่ยงในการให้กำเนิดทารกที่มีข้อบกพร่องทางประสาท หากมารดารับโฟเลตไม่เพียงพออาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ คลอดก่อนกำหนด และการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นไปอย่างล่าช้าและผิดปกติ

อาการของการขาดวิตามินบี

  • ท้องผูกหรือท้องร่วง
  • ผมบาง ผมร่วง
  • ผื่น
  • ติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่าย
  • อ่อนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • ไม่มีสมาธิ

 

 

4. โรคขาดวิตามินซี 

     สาเหตุหลักของโรคเลือดออกตามไรฟันคือการได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ติดสุราและสูบบุหรี่ ผู้ที่มีโภชนาการไม่ดี และผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง แม้แต่ผู้ที่ได้รับการฟอกไตก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากวิตามินซีจะหายไปในกระบวนการบำบัด 

     การเพิ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีสามารถช่วยได้ อย่างการรับประทานส้ม น้ำส้ม น้ำมะนาว รวมไปถึงอาหารที่มีวิตามินซีอื่น ๆ อีกเช่น บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง และกะหล่ำดอก ก็เป็นการลดความเสี่ยงในการขาดวิตามินซีได้

อาการของการขาดวิตามินซี

  • ภาวะซึมเศร้า
  • เหนื่อยล้า
  • ผื่น
  • บาดแผลหายช้า
  • โรคเหงือกอักเสบ
  • หงุดหงิดง่าย
  • เลือดออกตามไรฟัน

 

 

5. โรคขาดแคลเซียม

     ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การขาดแสงแดด โรคไตเรื้อรัง โรคตับหรือโรคตับแข็ง รวมถึงโรคบางอย่างที่อาจทำให้การดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ลดลง การขาดวิตามินดีก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำได้เช่นกัน

     บุคคลที่เสี่ยงต่อการขาดแคลเซียม ได้แก่ สตรีวัยหมดประจำเดือน บุคคลที่มีอาการแพ้แลคโตส และผู้ที่รับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ การรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมักทำโดยการเพิ่มอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี แต่นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน 

อาการของการขาดแคลเซียม

  • เหนื่อยล้า
  • วิตกกังวลและสับสน
  • เล็บเปราะ
  • ความจำไม่ดี
  • ผิวแห้ง
  • ผมหยาบ
  • ผมร่วง
  • ปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

 

6. โรคขาดวิตามินดี

     ความบกพร่องของวิตามินดีในร่างกายนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสกับแสงแดดน้อย เป็นโรคลำไส้อักเสบหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี

     ผู้ทานมังสวิรัติและวีแกนก็อาจมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากแหล่งอาหารธรรมชาติส่วนใหญ่ของวิตามินดีมักมาจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากนม

     การเพิ่มอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีและการได้รับแสงแดดยามเช้าเป็นประจำ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหารชนิดนี้

อาการของการขาดวิตามินดี

  • ปวดกระดูกและข้อต่อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • กระดูกหักได้ง่ายเนื่องจากมวลกระดูกลดลง
  • เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เนื่องจากมีระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ
  • เกิดโรคกระดูกอ่อน

 

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี