5 อาหารที่คนเป็นโรคซึมเศร้า ควรหลีกเลี่ยง กินแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต
สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นอกจากจะเข้ารับการบำบัด รับประทานยา หรือทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยคลายเครียดต่างๆ แล้ว อาหารการกินในแต่ละวันของเราก็อาจส่งผลต่ออาการซึมเศร้าของเราได้ค่ะ โดยหลายๆ คนอาจจะพยายามเลือกทานอาหารที่มีส่วนช่วยคลายเครียด แต่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงด้วยนะคะ เพราะอาหารเหล่านี้อาจจะยิ่งทำให้อาหารซึมเศร้าของเราเพิ่มมากขึ้นได้ ต้องระวังเลย!
1. แอลกอฮอล์
เชื่อว่าหลายๆ คนเมื่อรู้สึกเครียด ก็มักที่จะเลือกดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะช่วยปรับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นได้ในชั่วขณะหนึ่ง เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นการหลั่งของเซโรโทนินหรือสารที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขนั่นเอง
แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว การดื่มแอลกอฮอล์อาจจะส่งผลตรงกันข้ามได้ หากดื่มในปริมาณมากก็จะยิ่งกระตุ้นอาการซึมเศร้ามากขึ้นได้ รวมถึงยังอาจมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมหรือจิตใจที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (alcohol-induced depressive disorder) ได้อีกด้วย โดยอาการจะแสดงในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการทำงานของสมอง โดยจะทำลายสมดุลทางเคมีในสมอง และส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหดหู่ เศร้า กังวล หรือความโกรธที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการดื่มแอลกอฮอล์ยังอาจมีส่วนทำให้ยาต้านโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพน้อยลงอีกด้วย
2. คาเฟอีน
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ โซดา หรือเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ก็ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยปรับอารมณ์และลดความเครียดได้ หากร่างกายได้รับในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าคาเฟอีนอาจมีส่วนทำให้ความรู้สึกวิตกกังวล ความเครียด ความกระวนกระวายใจ และอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้นได้ รวมไปถึงคาเฟอีนยังมีส่วนรบกวนการนอนหลับพักผ่อนของเรา ทำให้เรานอนไม่หลับ ซึ่งการนอนหลับนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเรา และทำให้สภาพจิตใจของเราแย่ลงได้หากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ดังนั้นจึงแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากจนเกินไปนะคะ
3. น้ำตาล / ของหวาน
หากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่สูงมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้ด้วยเช่นกันค่ะ แม้ว่าในหลายๆ ครั้งเมื่อเรารู้สึกเครียด เรามักจะเลือกเติมของหวานให้ร่างกายก็ตาม เนื่องจากน้ำตาลมีส่วนเพิ่มอาการอักเสบ และความไม่สมดุลของฮอร์โมน ที่มีความเกี่ยวของกับอารมณ์ของเรา รวมถึงยังอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต สารสื่อประสาทในสมอง และพัฒนาการของเซลล์สมองได้อีกด้วย นอกจากนั้นการกินของหวานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเค้ก, คุ้กกี้ หรือไอศกรีม ก็ยังมีส่วนทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น และทำให้สมองของเราทำงานในระดับที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด และหดหู่ได้ ดังนั้นอาจเรียกได้ว่าความผิดปกติของอินซูลินมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้านั่นเอง
4. เกลือ / อาหารโซเดียมสูง
อาหารที่มีโซเดียมสูง นอกจากจะส่งผลเสียต่อความดันโลหิต รวมถึงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเกลือมีผลต่อสมอง โดยจะส่งผลเสียต่อไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร และการไหลเวียนของเลือดในสมองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าและความสามารถในการคิดและเข้าใจของสมองที่บกพร่องได้ นอกจากนั้นโซเดียมจะไปรบกวนระบบประสาทของเราอีกด้วย
5. ฟาสต์ฟู้ด
ฟาสต์ฟู้ด หรือ อาหารขยะ เป็นอาหารที่ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยไขมันทรานส์, คาร์โบไฮเดรตขัดสี, โซเดียม, น้ำตาล และอาหารแปรรูปอื่นๆ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่กินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้นได้ และทนต่ออาการซึมเศร้าได้น้อยกว่า โดยเฉพาะไขมันทรานส์ที่ถือเป็นปัจจัยหลักในอาหารฟาสต์ฟู้ดเลยก็ว่าได้
บทความที่คุณอาจสนใจ