รีเซต

7 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อมีอาการกรดไหลย้อนหรืออาการเสียดท้อง

7 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อมีอาการกรดไหลย้อนหรืออาการเสียดท้อง
BeauMonde
30 มกราคม 2566 ( 15:04 )
11.3K

     การปรับอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดการกับอาการของโรคกรดไหลย้อน อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการเสียดท้องและทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น อาจเป็นอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยรวมนั้นมักเป็นอาหารที่มีความเป็นกรดสูง 

     อาหารที่มีความเป็นกรดสูงเหล่านี้มักจะเป็นอาหารที่เราทุกคนชอบรับประทาน แต่รู้หรือไม่ว่ายิ่งหากเรารับประทานมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนได้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้อาการเสียดท้องและอาการแสบร้อนกลางหน้าอกนั้นย่ำแย่ลงไปได้อีก ดังนั้นให้ลองพยายามลดความถี่ในการรับประทานอาหารเหล่านี้ อย่ากินมากเกินไปหรือบ่อยเกินไป เพื่อที่อาการของโรคกรดไหลย้อนจะได้ไม่กำเริบค่ะ

 

 

7 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นกรดไหลย้อน

 

1. ของทอด อาหารที่มีไขมันมาก

 

 

     อาหารที่มีไขมันสูงและอมน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น เบคอนและไส้กรอก เฟรนช์ฟรายส์ มันฝรั่งทอด โดนัท เป็นต้น จะถูกย่อยอย่างช้า ๆ และอยู่ในท้องนาน อาหารเหล่านี้มีส่วนทำให้กรดในกระเพาะทำงานมากขึ้นและสามารถไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร เพิ่มความเสี่ยงของอาการเสียดท้องและโรคกรดไหลย้อน และอาหารไขมันสูงเหล่านี้ก็อาจทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเพิ่มแรงกดในช่องท้อง ทำให้ของเหลวไหลขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น 

 

2. ผลไม้รสเปรี้ยว

 

 

    วิตามินซีอาจเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก็จริง แต่ปริมาณกรดที่สูงเกินไปในผลไม้บางอย่างอาจทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนได้ ไม่ว่าจะเป็นมะนาวและเลม่อน ส้ม เกรปฟรุต องุ่น และผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเสียดท้องและโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน ลองลดความเป็นกรดในผลไม้เหล่านี้ด้วยการรับประทานคู่กับอาหารที่มีความเป็นด่าง เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำและนม แบบนี้ก็จะช่วยให้อาการไม่สบายท้องต่าง ๆ ลดลงไปได้บ้าง 

 

3. มะเขือเทศ

 

 

     มะเขือเทศจัดเป็นอาหารที่มีความเป็นกรดสูง สามารถซ้ำเติมระบบทางเดินอาหารที่กำลังระคายเคือง และทำให้เกิดอาการเสียดท้อง รวมถึงทำให้โรคกรดไหลย้อนกำเริบได้ หากต้องการรับประทานมะเขือเทศ แนะนำให้ปรุงสุกและรับประทานในปริมาณน้อย ๆ 

 

4. ช็อกโกแลต

 

 

     การชิมช็อกโกแลตสัก 1 - 2 ชิ้นอาจจะไม่สร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินอาหารเท่าไหร่ แต่หากเราเผลอกินช็อกโกแลตในปริมาณมากอย่างกินทีละครึ่งกล่องในคราวเดียว แบบนี้ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนได้ เพราะช็อกโกแลตความเป็นกรดตามธรรมชาติ และสามารถกระตุ้นให้เกิดกรดเกินในร่างกายได้ รวมถึงปริมาณไขมันสูงในช็อกโกแลตจะขัดขวางการย่อยอาหาร รวมถึงจากการศึกษาบางชิ้นพบว่า ช็อกโกแลตอาจมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัว ส่งผลให้ของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารได้  

 

5. น้ำอัดลม

 

 

     ฟองอากาศในน้ำอัดลมหรือน้ำโซดาเป็นเหมือนการเติมแก๊สเข้าไปในกระเพาะ ฟองอากาศพวกนี้จะเพิ่มแรงดันบริเวณกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหาร และทำให้เกิดความเสี่ยงที่กรดจะไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้

 

6. กาแฟ

 

 

     เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารบกพร่อง ยิ่งไปกว่านั้นการดื่มกาแฟยังอาจเป็นการเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้มากขึ้น 

 

7. แอลกอฮอล์

 

 

     แอลกอฮอล์อาจมีส่วนทำให้หลอดอาหารระคายเคืองและทำให้กระเพาะอาหารผลิตกรดได้มากขึ้น การดื่มมากเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารคลายตัว และอาจทำให้เสียดท้องมากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มความระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้อาการแสบร้อนกลางหน้าอกมีมากขึ้นได้

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี