รีเซต

6 ประโยชน์ของแมกนีเซียม ดีต่อหัวใจ กระดูก ลดซึมเศร้า น้ำตาลในเลือด

6 ประโยชน์ของแมกนีเซียม ดีต่อหัวใจ กระดูก ลดซึมเศร้า น้ำตาลในเลือด
pommypom
16 มิถุนายน 2566 ( 18:15 )
4.1K

แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ควรขาด ควรได้รับอย่างเพียงพอ เพราะถ้าหากขาดแมกนีเซียมก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และถ้าเราได้รับอย่างเพียงพอก็จะดีต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านเลยก็ว่าได้!

รับส่วนลด/ทรูพอยท์ เมื่อใช้บริการ ศูนย์บริการสุขภาพรามาธิบดี ที่ โลตัส นอร์ธราชพฤกษ์

 

ประโยชน์ของแมกนีเซียม

 

1. ดีต่อสุขภาพหัวใจ

     แมกนีเซียม มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้หัวใจของเราแข็งแรง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจได้ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาพบว่าแมกนีเซียมอาจมีส่วนช่วยปรับปรุงไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และค่าหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะขาดแมกนีเซียมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

 

2. ดีต่อสุขภาพกระดูก

     แมกนีเซียม มีความจำเป็นในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ช่วยรักษาสุขภาพกระดูก ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และยังมีงานวิจัยพบว่าผู้ที่ได้รับแมกนีเซียมอย่างเพียงพอจะมีความหนาแน่นของกระดูกที่เพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนลดลงในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน นอกจากนั้นแมกนีเซียมยังมีส่วนช่วยควบคุมระดับแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งถือเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพกระดูกอีกด้วย

 

3. ลดอาการก่อนมีประจำเดือน

     แมกนีเซียม มีส่วนช่วยบรรเทาอาการ PMS หรือ อาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดประจำเดือนและไมเกรนได้ เนื่องจากระดับแมกนีเซียมจะผันผวนตลอดรอบเดือนของเรา ซึ่งก็อาจทำให้อาการ PMS แย่ลงในผู้ที่ขาดแมกนีเซียมได้ ดังนั้นการได้รับแมกนีเซียมจึงมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการขณะมีประจำเดือน เช่น ปวดไมเกรนได้ อีกทั้งแมกนีเซียมยังอาจช่วยลดอาการท้องอืด อาการทางอารมณ์ และอาการเจ็บเต้านมในช่วง PMS ได้อีกด้วย

 

4. ปรับปรุงการนอนหลับ

     แมกนีเซียม มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับ ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เนื่องจากแมกนีเซียมสามารถช่วยควบคุมสารสื่อประสาทหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น แกมม่า อะมิโนบิวทีริก แอซิด (Gamma-Aminobutyric Acid หรือ GABA) ได้นั่นเอง อีกทั้งผู้หญิงคนไหนที่รู้สึกง่วงและอยากหลับในตอนกลางวัน แมกนีเซียมก็จะช่วยได้

 

5. ลดอาการซึมเศร้า

     แมกนีเซียม มีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมองและอารมณ์ ซึ่งระดับแมกนีเซียมที่ต่ำก็อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้ อีกทั้งแมกนีเซียมยังมีส่วนช่วยเกี่ยวกับความผิดปกติของอารมณ์ รวมถึงความวิตกกังวล โดยหากมีระดับแมกนีเซียมที่ต่ำ ก็อาจจะมีระดับความกังวลที่สูงขึ้นได้

 

6. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

     แมกนีเซียม มีความจำเป็นต่อเมทาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Metabolism) และการหลั่งของอินซูลิน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการรักษาระดับแมกนีเซียมให้เหมาะสมจึงจำเป็นต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับแมกนีเซียมในเลือดที่ต่ำ จึงต้องเพิ่มแมกนีเซียมเพื่อมาช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความไวของอินซูลิน ส่วนคนทั่วไปที่ได้รับแมกนีเซียมอย่างเพียงพอก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยกว่า

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง