รีเซต

4 วัตถุเจือปนในอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงเกิดโรคหากกินมากเกิน

4 วัตถุเจือปนในอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงเกิดโรคหากกินมากเกิน
BeauMonde
17 มกราคม 2566 ( 13:37 )
531

     ฉลากอาหารส่วนใหญ่มักระบุส่วนผสมของอาหารไว้ในนั้นซึ่งรวมถึงสารปรุงแต่งอาหารอื่น ๆ ไว้ด้วย สารปรุงแต่งหรือวัตถุเจือปน มักถูกใช้เพื่อเพิ่มรสชาติ ลักษณะ หรือเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ หรือบางครั้งก็ใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

     วัตถุเจือปนเหล่านี้บางชนิดก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและควรหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันสารบางชนิดก็มีความปลอดภัยและสามารถบริโภคได้โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

 

 

4 วัตถุเจือปนในอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

 

1. โมโนโซเดียมกลูตาเมต

     โมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรส เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มักใช้เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารคาว พบได้ในอาหารแปรรูปหลากหลายชนิด เช่น อาหารเย็นแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม และซุปกระป๋อง และในร้านอาหารบางร้านก็มีการใส่ผงชูรสเพิ่มเข้าไปด้วย

     ผงชูรสมักเป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะมีความเชื่อว่าการกินผงชูรสมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาผมร่วง ซึ่งในความเป็นจริงนั้นยังไม่มีรายงานการวิจัยหรือรายงานการสำรวจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคผงชูรสจะทำให้ผมร่วง อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่มีความไวต่อผงชูรสและอาจมีอาการไม่พึงประสงค์เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก และมึนงงหลังจากรับประทานในปริมาณมาก หากคุณพบผลข้างเคียงหลังจากบริโภคผงชูรส ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทาน แต่หากไม่ได้มีอาการแพ้ใด ๆ และสามารถรับประทานผงชูรสได้ ก็แนะนำให้บริโภคอย่างปลอดภัยในปริมาณที่พอเหมาะจะดีกว่า

 

2. โซเดียมไนไตรท์

     โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) หรือเรียกกันอีกชื่อว่าสารกันบูด มักพบได้บ่อยในเนื้อสัตว์แปรรูป ทำหน้าที่ในการช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มรสเค็มและสีแดงอมชมพู ซึ่งเมื่อสัมผัสกับความร้อนสูงและเมื่อมารวมในที่ที่มีกรดอะมิโน ไนไตรต์สามารถเปลี่ยนเป็นไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารประกอบที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพมากมาย เช่น การเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

     และเช่นเดียวกับการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปอื่น ๆ ในปริมาณมากและบริโภคเป็นประจำ อาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของมะเร็งลำไส้ใหญ่ เต้านม และกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นทางที่ดีควรลดการบริโภคโซเดียมไนไตรท์และเนื้อสัตว์แปรรูปให้น้อยที่สุด ลองเปลี่ยนเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก ฮอทด็อก และแฮม มาเป็นเนื้อสัตว์ที่ยังไม่แปรรูปและแหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ อย่างเช่น ไก่ เนื้อวัว ปลา เนื้อหมู พืชตระกูลถั่ว และไข่

 

3. น้ำเชื่อมข้าวโพด

     น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn Syrup) น้ำเชื่อมข้าวโพดเป็นสารให้ความหวานที่ทำจากข้าวโพด มักพบในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ลูกกวาด ซีเรียลและขนมขบเคี้ยว น้ำเชื่อมข้าวโพดมักมีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้เมื่อบริโภคในปริมาณมาก เพราะน้ำเชื่อมข้าวโพดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและโรคเบาหวาน 

     เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตสมักทำให้เกิดไขมันหน้าท้องและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์พบว่าน้ำตาลฟรุกโตสสามารถกระตุ้นการอักเสบในเซลล์ และยังเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการอักเสบที่มีส่วนเกี่ยวข้องภาวะเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงโรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน 

 

4. ไขมันทรานส์

     ไขมันทรานส์เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนซึ่งช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษา มักพบได้ในอาหารแปรรูปหลายประเภท เช่น ขนมอบ เนยเทียม ป๊อปคอร์นไมโครเวฟ และบิสกิต ไขมันทรานส์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหลายประการ และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเพิกถอนสถานะ GRAS ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าอาหารชนิดนี้ปลอดภัย

     การบริโภคไขมันทรานส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคหัวใจที่สูงขึ้น และเพิ่มการอักเสบซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ รวมถึงจากการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าอาจมีความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคไขมันทรานส์และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง