9 สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการลดน้ำตาลในร่างกาย การเลือกใช้สารทดแทนความหวานถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพค่ะ เพราะสารทดแทนความหวานนั้นให้พลังงานต่ำกว่าน้ำตาลหลายเท่าและในปัจจุบันนี้ก็ถูกพัฒนามาหลายชนิดให้เราเลือกใช้กัน แต่ถึงอย่างไรการใช้สารเหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ วันนี้เรามาดูกันว่าสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้นมีกี่ประเภท และเราควรจะบริโภคอย่างไรให้ปลอดภัยกับร่างกายค่ะ
ประเภทของสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล
1. สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน
สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลหรือเรียกอีกอย่างว่าน้ำตาลเทียม เช่น แอสปาแตม สตีวีโอไซด์ (หญ้าหวาน) ซูคราโลส
2. สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ให้พลังงงานต่ำ
ส่วนมากสารในกลุ่มนี้จะเป็นจำพวกน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น แมนนิทอล ไซลิทอล ซอร์บิทอล
9 สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่พบได้บ่อย
1. Saccharin
แซคคารินหรือขัณฑสกร ถือเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดแรก ๆ ที่ออกมา เนื่องจากเป็นสารให้ความหวานที่ทนต่ออุณหภูมิสูงจึงนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารหลายประเภท เช่น ผลไม้แปรรูป แยม ขนมหวานและเครื่องดื่มต่าง ๆ ปัจจุบันองค์การอาหารและยา (อย.) ไม่อนุญาตให้ใช้สารชนิดนี้แล้วเนื่องจากสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้
2. Sucralose
ซูคาโลส ถือเป็นสารให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 600 เท่า ทนต่อความร้อนได้สูงถึง 200°C สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย รสชาติดี ไม่ขม โดยในปัจจุบันเราสามารถพบเจอซูคาโลสเป็นส่วนประกอบในอาหารมากมาย เช่น น้ำผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มบางชนิด ข้อดีคือเป็นสารให้ความหวานที่ร่างกายดูดซึมได้น้อย แต่ข้อเสียคือหากบริโภคมากเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อภาวะฮอโมนไทรอยด์ต่ำได้
3. Acesulfame-K
อะซีซัลเฟม-เค ให้ความหวานกว่าน้ำตาลปกติประมาณ 200 เท่า ซึ่งหากใช้ในปริมาณมากอาจทำให้มีรสชาติขมปลายและมีกลิ่นโลหะ เราสามารถพบอะซีซัลเฟม-เคได้บ่อยในเครื่องดื่มประเภท 0 แคล เครื่องดื่มผง กาแฟและชาสำเร็จรูป ข้อดีคือสามารถทนต่อความร้อนได้สูงและสามารถไปประกอบอาหารได้โดยไม่เสียสภาพ ไม่ให้พลังงานและละลายได้ในน้ำ สามารถใช้แทนที่น้ำตาลเพื่อลดปริมาณแคลอรีได้
4. Aspartame
แอสพาร์แตม ถือเป็นสารให้ความหวานที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด โดยลักษณะของสารชนิดนี้นั้นมีได้หลายหลายรูปแบบ ทั้งแบบผง แบบน้ำ หรือแบบแคปซูล สามารถให้ความหวานกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่า แต่ข้อเสียของสารชนิดนี้คือไม่ทนต่อความร้อน ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปประกอบอาหาร และนอกจากนี้หากใช้ในปริมาณมากยังอาจจะมีรสขมปลายติดมาด้วย ข้อควรระวังสำหรับการใช้แอสพาร์แตม คือสารชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรค Phenylketonuria (PKU) ซึ่งเป็นภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน หากผู้ป่วยรับสารแอลพาร์แตมอาจก่อให้เกิดอาการชัก กล้ามเนื้อเกร็ง เม็ดสีผิวลดลง คลื่นสมองผิดปกติและสภาพจิตใจไม่ปกติได้ค่ะ
5. Stevia
สตีเวียหรือหญ้าหวาน จัดเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่มาจากพืชค่ะ โดยมีความหวานกว่าน้ำตาลประมาณ 100 - 300 เท่า ทนต่อความร้อนและทนต่อความเป็นกรดด่างได้ดี มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ ไม่มีแคลอรี่ อย่างไรก็ตามในผู้ที่บริโภคหญ้าหวานบางราย อาจจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องอืด ท้องร่วง คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะและชาตามร่างกายได้
6. Luo han guo extract
สารสกัดจากหล่อฮังก๊วยหรือน้ำตาลหล่อฮังก๊วย ถือเป็นสารทดแทนน้ำตาลอีกชนิดที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันค่ะ โดยสารชนิดนี้ถือเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ ให้ความหวานกว่าน้ำตาลประมาณ 150 - 300 เท่า ไม่มีแคลอรี่ มีการละลายน้ำที่ดี สามารถทนต่อความเป็นกรดด่างได้รวมถึงเมื่อบริโภคแล้วไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด
7. Sorbitol
ซอร์บิทอลถือเป็นสารให้ความหวานชนิดน้ำตาลแอลกอฮอล์ ซึ่งเรามักจะพบสารชนิดนี้ได้ในผลิตภัณฑ์ประเภท Sugar free ทั้งหลาย เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม ให้ความหวานน้อยกว่าน้ำตาลประมาณครึ่งเท่า ให้พลังงาน 2.6 แคลอรี่ต่อกรัม เมื่อละลายตัวแล้วจะให้ความรู้สึกหวาน เย็นและซ่า ทนต่อกรดและความร้อนได้ดี ร่างกายดูดซึมได้ช้าจึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในลือดสูง
8. Hight Fructose Corn Syrup (HFCS)
น้ำตาลข้าวโพดหรือไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป สารให้ความหวานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยให้ความหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 6 เท่า มีราคาถูก สามารถพบสารชนิดนี้ได้ในเครื่องดื่มหวาน ๆ น้ำอัดลม ซอส ขนม ซีเรียลรสหวาน หากร่างกายได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ ติดต่อกัน จะทำให้เกิดภาวะไตรกลีดซอร์ไรด์สูง ไขมันสะสม โรคเบาหวาน โรคความดัน เส้นเลือดตีบแตก และยังทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ด้วยค่ะ
9. Glucose Syrup
กลูโคสไซรัป หรือแบะแซ ในบางครั้งอาจเรียก Corn Syrup ก็ได้ ถือเป็นสารทดแทนน้ำตาลที่ทำมาจากการย่อยแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งข้าวโพด มี 2 ลักษณะที่พบเจอได้ คือแบบเหนียวใสและแบบผง โดยมีสีทั้งแบบใสไม่มีมีและแบบสีเหลืองน้ำตาล นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น กระยาสารท น้ำจิ้ม ขนมหวาน ลูกกวาด ลูกอม รวมถึงยังใช้เป็นสารเคลือบผิวยาและวิตามินต่าง ๆ มีคุณสมบัติช่วยให้น้ำตาลรัดตัวได้เร็วขึ้น ลดปัญหาน้ำตาลตกผลึกหรือเป็นทราย การบริโภคสารชนิดนี้มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำหนักตัวเพิ่ม โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคเบาหวานและโรคหัวใจได้ค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ปริมาณน้ำตาลที่ควรกินต่อวัน สำหรับแต่ละช่วงวัย กินเท่าไหร่ไม่เสี่ยงโรคอ้วน
- 5 ประโยชน์ จากการลดน้ำตาล ลดอ้วน หน้าใส แค่ไม่กินหวาน