6 เคล็ดลับทำอาหารกินเองที่บ้านให้ได้สารอาหารครบ อยู่บ้านแบบเฮลท์ตี้ ไม่ขาดสารอาหาร!
วันนี้เรามี 6 เคล็ดลับทำอาหารเองที่บ้านยังไงให้ได้สารอาหารครบถ้วนมาฝากค่ะ สำหรับใครที่ช่วงนี้เก็บตัวอยู่ที่บ้านเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเริ่มที่จะตุนอาหารเข้าบ้านกันมากมาย อาหารเป็นสิ่งที่เราต้องกินทุกวัน จึงจำเป็นอย่างมากค่ะ แต่ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างลำบากที่จะกินอะไรได้ตามใจชอบ เพราะวัตถุดิบนั้นอาจจะหายากเนื่องจากหลายๆร้านได้ปิดลง จนทำให้หลายๆคนเลือกที่จะทานอาหารสำเร็จรูปอย่างมาม่าหรืออาหารกระป๋องจนทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ดังนั้นในช่วงที่เรายังสามารถหาซื้อของได้อยู่ เราจึงอยากแนะนำเคล็ดลับการทำอาหารที่จะทำให้เรามีร่างกายแข็งแรง ไม่ขาดสารอาหารในช่วงอยู่แต่บ้านนี้ค่ะ
1. ตุนอาหารอย่างฉลาด
เชื่อว่าหลายๆคนคงตุนอาหารกันเยอะเลยใช่มั้ยคะ? เพื่อเตรียมพร้อมในช่วงวิกฤตแบบนี้ โดยเฉพาะอาหารกระป๋องที่ทุกคนมักเลือกเป็นอาหารสำหรับกักตุน เพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าอยากให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนไปด้วย เราอยากให้ทุกคนเลือกค่ะ อาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นานและมีประโยชน์ต่อร่างกายและเราควรที่จะเลือกตุนไว้ ได้แก่ ถั่วต่างๆ เมล็ดเชีย หรือควินัว และถ้าใครอยากตุนอาหารแบบเส้นไว้ด้วย แนะนำให้เลือกเส้นพาสต้ามังสวิรัติค่ะ เพราะจะมีไฟเบอร์และโปรตีนมากกว่าเส้นพาสต้าทั่วไป นอกจากนั้นปลากระป๋องอย่างปลาซาดีนและปลาแองโชวี่ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีโอเมก้า 3 และเป็นแหล่งของโปรตีนอีกด้วยค่ะ เท่านี้เราก็จะมีอาหารที่มีประโยชน์ตุนไว้ที่บ้านแล้วล่ะค่ะ
2. เลือกน้ำมันที่ใช้ทำอาหาร
น้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่เราควรมีติดบ้านสำหรับปรุงอาหาร และน้ำมันที่ใช้ควรเป็นน้ำมันมะกอก (สำหรับไฟอ่อน) , น้ำมันมะพร้าว (สำหรับไฟปานกลาง) และน้ำมันอะโวคาโด (สำหรับไฟแรง) ค่ะ เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ อย่างแรก น้ำมันมะกอกมีส่วนช่วยในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ แถมยังช่วยบำรุงหัวใจ หลอดเลือด และสมองของเราอีกด้วยค่ะ ส่วนน้ำมันมะพร้าว มีช่วยป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง อีกทั้งยังไม่ทำให้อ้วน เพราะสามารถเผาผลาญได้เร็ว ไม่สะสมและไม่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้นอีกด้วยค่ะ แถมยังช่วยลดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณดี และไม่เหี่ยวย่นก่อนวัย สุดท้าย น้ำมันอะโวคาโด ประกอบไปด้วยไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งค่ะ น้ำมันทั้ง 3 ชนิดนี้เหมาะสำหรับการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพเลยล่ะ
3. ลดเครื่องปรุงรสลง
ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่เราปรุงอาหารเรามักจะเติมซอสและเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อให้รสชาติเข้มข้นขึ้น และเราก็ทานอาหารรสจัดจ้านจนติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำปลา น้ำตาล หรือผงชูรส แถมตอนปรุงเสร็จแล้ว เราก็ยังทานคู่กับพริกน้ำปลาอีก ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเลยค่ะ ดังนั้น แม้ว่าทุกคนจะไม่สามารถทานจืดได้ เพราะมันอาจจะไม่อร่อยและไร้รสชาติสำหรับบางคน จึงอยากให้ลดปริมาณเครื่องปรุงรสลงบ้าง อย่างการทำต้มจืด น้ำต้มจืดสามารถมีรสหวานได้จากผักและรสเค็มจากหมูอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเติมเครื่องปรุงรสต่างๆลงไปเพิ่มเลยล่ะค่ะ เท่านี้เราก็สามารถทานอาหารอย่างไม่ทำลายสุขภาพของตัวเองแล้วล่ะค่ะ
4. ใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด
วิธีทำอาหารให้อร่อยนั้นมีหลายแบบ เราไม่จำเป็นต้องทอดเสมอไปค่ะ เพราะการทอดนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ แนะนำให้ต้มหรือนึ่งแทนค่ะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพแถมยังทำให้เราได้รับสารอาหารจากผักหรือเนื้อสัตว์ได้มากกว่าการทอดค่ะ อย่างการนึ่งผัก จะทำให้เราได้รับสารอาหารจากผักมากกว่า แต่ต้องระวังอย่านึ่งมากเกินไไปจนสูญเสียคุณค่าสารอาหารลงได้นะคะ
5. เลือกอาหารที่มีไฟเบอร์
เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้ว อาหารจำพวกเนื้อหรือคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารโปรดของหลายๆคนเลยล่ะ แต่อย่าลืมทานผัก ผลไม้ หรือธัญพืชที่มีไฟเบอร์สูงด้วยนะคะ จะทำให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้สมดุลขึ้น และระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ไม่ทำให้ท้องผูกจนถ่ายไม่ออกแน่นอนค่ะ
6. เลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต แต่น้อยคนนักที่จะเก็บไปใส่ใจค่ะ เพราะส่วนใหญ่หลายๆคนมักจะทานแต่ผักผลไม้เฉยๆเพราะอยากผอม หรือเลือกทานเนื้อมากกว่าผักผลไม้เพราะอร่อยกว่า ถ้าอยากมีสุขภาพดี เราควรที่จะพยายามจัดอาหารที่รับประทานในแต่ละวันให้ครบทั้ง 5 หมู่ด้วยนะคะ อาหารแต่ละชนิดก็มีคุณค่าในตัวมันเอง เราสามารถทานได้ แต่ต้องอย่าลืมทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ในแต่ละวันด้วยล่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 12 อาหารสุขภาพ ที่ควรมีติดบ้าน กักตุนไว้ช่วง COVID-19 ทั้งอิ่ม และไม่อ้วน!
- 15 อาหารคลีน เมนูไข่ ผอมๆ อร่อยได้ไม่ซ้ำ แถมยังช่วยลดน้ำหนักด้วย!
- ทางรอดช่วงวิกฤต! 10 ผักสวนครัวโตเร็ว ปลูกกินเองที่บ้าน ประหยัดเงินได้ ปลูกง่าย มีประโยชน์