ประจำเดือนมาเกิน 10 วัน อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง ดูแลตัวเองยังไงดี
ประจำเดือนมาเกิน 10 วัน เป็นแบบนี้มา 2 เดือนติด แถมตอนมาแต่ละทีก็ปวดท้องน้อยสุดๆ จะลุกเดินแทบคลาน! งั้นรีบตามมาอ่านกันดีกว่าค่ะสาวๆ ว่า ประจำเดือนมาเกิน 10 วัน อันตรายไหม? เกิดจากอะไรได้บ้าง เมื่อทราบสาเหตุแล้วจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อีกทั้งเราก็มี วิธีดูแลตัวเอง เมื่อประจำเดือนมามาก ให้สาวๆ ได้ลองนำไปทำกันด้วยค่า ใครที่ประจำเดือนมามากหรือมาเกิน และกังวลใจกับปัญหานี้กันอยู่ อยากปรับรอบเดือนให้กลับมาปกติพลาดไม่ได้แล้ว!
เช็กกันหน่อย! รอบเดือนแบบไหนปกติ?
- ประจำเดือนสีแดงสด แดงเข้ม ไม่มีชิ้นเนื้อ ลิ่มเลือดก้อนใหญ่เกิน 2 ซม. ปนออกมา
- ประจำเดือนมา 3-6 วัน โดยแต่ละรอบนานไม่เกิน 7 วัน
- ประจำเดือนมา 1 รอบ/เดือน ห่างกันแต่ละรอบประมาณ 26-30 วัน หรือ 21-35 วัน ไม่ควรห่างกันเกินจากนี้
- ปริมาณประจำเดือนปกติอยู่ที่ 35-80 cc. หรือใช้ผ้าอนามัยโดยเฉลี่ย 2-4 ผืนต่อวัน
- อาการปวดประจำเดือนอยู่ในระดับน้อย-ปานกลาง (ทนได้) ไม่ปวดรุนแรงติดกันทุกเดือน
ประจำเดือนมามาก มานาน เกิดจากอะไร?
ประจำเดือนมานานหลายวัน เข้าข่ายปัญหาประจำเดือนมามาก ซึ่งเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุค่ะสาวๆ ใครที่รู้สึกว่ารอบเดือนของคุณแต่ละเดือนนั้นยาวนานเกินไป ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากเกินไป เมื่อไม่มีการปฏิสนธิหรือการฝังตัวของตัวอ่อนก็จะค่อยๆ หลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือนปริมาณมาก
- เกิดความผิดปกติที่รังไข่ หรือมดลูก เช่น มีซีสต์ ติ่งเนื้อ ก้อนเนื้อ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็ง ฯลฯ
- ฮอร์โมนผิดปกติ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล
- การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อฮอร์โมน เช่น กลุ่มยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
- โรคบางชนิด เช่น เนื้องอกมดลูก ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไตและตับ
ตอบคำถามฮิต! ประจำเดือนมาเกิน 10 วัน อันตรายไหม?
และแล้วก็มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยนั่นก็คือ ประจำเดือนมานานเกิน 10 วัน เป็นอันตรายหรือเปล่า? เราก็ขอตอบว่า สุ่มเสี่ยงค่ะสาวๆ เนื่องจากรอบเดือนที่ปกติไม่ควรมายาวนานเกิน 7 วันตามที่เราได้อธิบายไปแล้วข้างต้น หากมานานเกินกว่านี้เท่ากับคุณเสียเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยลง เสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางได้
ใครพบว่ารอบเดือนของคุณมานานผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ ซึ่งคุณหมอสูติจะตรวจหาสาเหตุด้วยการอัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอดหรือหน้าท้อง รวมถึงอาจมีการส่องกล้อง ตรวจภายในเพื่อคัดกรองระบบสืบพันธุ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอค่า
วิธีดูแลตัวเอง เมื่อประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- โภชนาการดี ฮอร์โมนสมดุล
การปรับฮอร์โมนที่แปรปรวนให้สงบกลับมาสมดุล ต้องเริ่มจากปรับอาหารการกินค่ะ โดยแต่ละมื้อต้องกินโปรตีนและไฟเบอร์ให้ถึง เปลี่ยนคาร์บชนิดขัดขาวมาเป็นคาร์บเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ควินัว โฮลเกรน ฯลฯ พร้อมกินไขมันดี เช่น อะโวคาโด แซลมอน ถั่ว ธัญพืช ให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้สุขภาพดี ฮอร์โมนสมดุลขึ้นแล้ว ใครเป็นทาสรักฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี อาหารแปรรูปอาจต้องหักห้ามใจหันมาทานอาหารที่ดีและหลากหลายกันก่อนน้า เพราะหากมีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเราผิดปกติได้ค่ะ
- คุณภาพการนอนดี ครบ 7-8 ชั่วโมง
การนอนเป็นวิธีดูแลตัวเองที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนและร่างกายของเราค่ะ ซึ่งการนอนที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เพียงนอนให้ครบ 7-8 ชั่วโมงเท่านั้นนะคะ ต้องหลับอย่างมีคุณภาพด้วย นั่นก็คือการนอนหลับครบทุกระยะ ทั้งหลับตื้น หลับกลาง หลับลึก ทำให้สมองหลั่ง Growth Hormone ออกมาได้เต็มที่ จึงช่วยซ่อมแซมส่วนต่างๆ ทำให้ระบบในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยปรับระดับฮอร์โมนให้สมดุลด้วยค่ะ
- ผ่อนคลายความเครียด
ทราบกันหรือเปล่าคะสาวๆ ว่าเจ้าฮอร์โมนคอร์ติซอล จะเข้าไปก่อกวนต่อมไร้ท่อในร่างกาย ทำให้การสร้างฮอร์โมนผิดปกติ สำหรับสาววัยทำงานที่ความเครียดรุมเร้า จำเป็นจะต้องหาวิธีผ่อนคลายความเครียดกันแล้วค่ะ ซึ่งเราขอแนะนำให้สาวๆ เริ่มจากกิจกรรมที่ชอบจะง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ดูหนัง ปลูกต้นไม้ ทำสมาธิ หรือกิจกรรมที่ทำให้จิตใจเราสงบ มั่นคงขึ้น
- ไม่ออกกำลังกายหนักเกินไป
การออกกำลังกายหนักเกินไป แน่นอนว่ากระทบกับรอบเดือนค่ะสาวๆ บ้างก็ทำให้ประจำเดือนขาด บ้างก็มามากผิดปกติ นั่นเพราะการออกกำลังกายหนักทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานผิดปกติ ดังนั้นควรออกแต่พอดีและเลือกการออกกำลังกายช่วยปรับฮอร์โมนกันดีกว่า เช่น การเล่นโยคะท่า Legs up to the wall, Forward fold นอกจากช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอลได้แล้ว ยังช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล อีกทั้งช่วยผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดีขึ้นด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ