รวมสาเหตุและอาการ โกรทฮอร์โมนต่ำ ในผู้ใหญ่ ทำให้แก่เร็ว กระดูกพรุน
ไม่อยากแก่เร็ว มีกระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ระบบเผาผลาญดี ต้องไม่ทำพฤติกรรมที่จะเสี่ยงทำให้โกรทฮอร์โมนต่ำ! ซึ่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone;GH หรือ Human growth hormone;HGH) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ถือเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็จะผลิตโกรทฮอร์โมนได้ต่ำลง ทำให้แก่เร็วและเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย รวมถึงยังเป็นการเพิ่มไขมันในร่างกายและระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นได้
สาเหตุของโกรทฮอร์โมนต่ำ
การที่ร่างกายมีโกรทฮอร์โมนต่ำหรือขาดโกรทฮอร์โมน มักจะเกิดมาจากความเสียหายของต่อมใต้สมองหรือไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งมีส่วนในการควบคุมต่อมใต้สมอง โดยความเสียหายนี้อาจมีส่วนมาจากเนื้องอกในสมอง โดยเนื้องอกเหล่านี้มักจะอยู่ที่บริเวณต่อมใต้สมองหรือบริเวณไฮโพทาลามัสของสมอง รวมถึงการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง การติดเชื้อ การรักษาด้วยรังสี ปัญหาเกี่ยวกับปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงยังต่อมใต้สมอง รวมถึงการบาดเจ็บของต่อมใต้สมอง เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้โกรทฮอร์โมนต่ำ นอกจากนั้นการใช้ชีวิตต่างๆ ของเรา เช่น การนอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ความอ้วน ไขมันและน้ำตาลสูง ก็มีส่วนทำให้โกรทฮอร์โมนต่ำได้เช่นกัน
อาการของโกรทฮอร์โมนต่ำ
- มวลกล้ามเนื้อลดลง
- ความแข็งแรงของกระดูกลดลง
- ความหนาแน่นของกระดูกลดลง
- กระดูกพรุน
- มีระดับพลังงานต่ำ
- มีความเหนื่อยและเมื่อยล้า
- ความอดทนในการออกกำลังกายต่ำ
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ
- มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
- ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL เพิ่มขึ้น
- ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
- น้ำหนักและไขมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรอบเอว
- สมรรถภาพหรือความต้องการทางเพศลดลง
- มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ
- มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- ผิวแห้งและบอบบาง
- ไวต่อความร้อนและเย็น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่โกรทฮอร์โมนต่ำจะมีอาการเหมือนกัน ในบางคนอาจจะปรากฏเพียง 1 หรือ 2 อาการ ในขณะที่บางคนก็อาจจะพบหลายอาการร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจตามมาหากร่างกายมีโกรทฮอร์โมนต่ำ
บทความที่คุณอาจสนใจ