เพิ่มโกรทฮอร์โมนยังไง? รวม 5 วิธีเพิ่มโกรทฮอร์โมนต้านแก่ ลดน้ำหนัก
โกรทฮอร์โมน (Growth hormone;GH หรือ Human growth hormone;HGH) เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตในเด็ก ส่วนในวัยผู้ใหญ่ก็จะช่วยซ่อมแซมเซลล์ ควบคุมการเผาผลาญ ลดน้ำหนัก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ดีต่อสุขภาพกระดูก ความจำ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงยังช่วยชะลอวัยได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นร่างกายก็จะผลิตโกรทฮอร์โมนได้น้อยลง และยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ รวมถึงไขมันในร่างกาย!!
เพิ่มโกรทฮอร์โมนยังไง?
1. นอนหลับให้เพียงพอ
โกรทฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นในระหว่างการนอนหลับอันเนื่องมาจากเมลาโทนิน ตามนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) ซึ่งวงจรการนอนหลับที่สม่ำเสมอนี้มีส่วนช่วยเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมนในร่างกายตามธรรมชาติได้ ในขณะที่หากเราพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเป็นการลดโกรทฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตได้ลง นอกจากนั้นการอดนอนยังมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน เบาหวาน และภาวะที่ไม่ไวต่ออินซูลิน (insulin insensitivity) ซึ่งอาจจะทำให้ระดับโกรทฮอร์โมนลดลงได้
2. ลดการกินน้ำตาล
หากร่างกายได้รับน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีในปริมาณมากๆ หรือมีระดับอินซูลินที่สูง ก็อาจจะส่งผลต่อระดับโกรทฮอร์โมนให้ลดลงได้ ในขณะที่หากเราลดการกินน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีลงก็จะช่วยเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมน อีกทั้งการได้รับน้ำตาลมากเกินไปยังส่งผลทำให้น้ำหนักขึ้นและเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะส่งผลต่อระดับโกรทฮอร์โมนให้ลดลงได้ด้วยเช่นกัน
3. ลดไขมันและความอ้วน
เมื่อร่างกายมีระดับโกรทฮอร์โมนที่ต่ำ จะส่งผลทำให้น้ำหนักขึ้นได้ และหากเราไม่ลดความอ้วนและปล่อยไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ระดับโกรทฮอร์โมนต่ำลง อีกทั้งการมีไขมันสะสมในร่างกายมากๆ โดยเฉพาะไขมันหน้าท้อง ก็จะส่งผลให้โกรทฮอร์โมนลดลงได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงแนะนำให้ลดความอ้วนและลดไขมัน เพื่อโกรทฮอร์โมนในร่างกาย
4. ออกกำลังกายแบบ HIIT
หากอยากออกกำลังกายเพื่อลดไขมันหรือลดความอ้วน แนะนำให้ออกกำลังกายแบบ HIIT หรือแอโรบิค ซึ่งการออกกำลังกายแบบนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและยังช่วยเพิ่มการผลิตโกรทฮอร์โมนได้อีกด้วย โดยการออกกำลังกายแบบนี้เรียกได้ว่ามีส่วนช่วยเพิ่มโกรทฮอร์โมนในร่างกายได้ดีกว่าการออกกำลังกายแบบอื่นๆ เลยก็ว่าได้
5. ทำ IF
วิธีที่ชาวลดน้ำหนักรู้จักกันดีอย่างการทำ IF หรือ Intermittent fasting มีการศึกษาพบว่า สามารถช่วยเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมนในร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ IF แบบ 16/8 (อดอาหาร 16 ชั่วโมง และกินอาหาร 8 ชั่วโมง) หรือจะเป็นการทำ IF แบบอดอาหาร 2 วันต่อสัปดาห์ ก็มีส่วนช่วยเพิ่มโกรทฮอร์โมนได้เช่นกัน โดยการทำ IF จะสามารถช่วยลดระดับไขมันและอินซูลินในร่างกายได้นั่นเอง อย่างไรก็ตามการทำ IF นั้นไม่ควรทำในระยะยาว!
บทความที่คุณอาจสนใจ