10 อาหารช่วยบำรุงตับ ช่วยลดไขมันพอกตับ กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย
โรคไขมันพอกตับและโรคตับอื่น ๆ ถือเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรืออาจกล่าวได้ว่าโรคไขมันพอกตับเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเราค่ะ
แม้ในกรณีที่ไม่มีโรคแต่หากตับของเราทำงานได้ไม่ดีพอก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากการทำงานของตับนั้นมีหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ ขจัดสารอันตรายและสารพิษออกจากร่างกาย ผลิตน้ำดีสำหรับย่อยไขมัน ทำหน้าที่ในการจัดเก็บวิตามิน แร่ธาตุ และสารสำคัญอื่น ๆ การบำรุงตับให้แข็งแรงจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา ตับที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยล้างสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งการรับประทานอาหารทั้ง 10 ชนิดนี้สามารถช่วยบำรุงตับของเราได้ค่ะ
10 อาหารช่วยบำรุงตับ ลดไขมันพอกตับ
1. เมล็ดทานตะวัน
เมล็ดทานตะวัน 1 กำมือให้วิตามินอีในปริมาณครึ่งหนึ่งที่แนะนำต่อวัน ซึ่งการได้รับวิตามินอีอย่างเพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับด้วยค่ะ ซึ่งนอกจากเมล็ดทานตะวันที่สามารถบำรุงตับได้แล้ว ยังมีแหล่งอาหารที่มีวิตามินอีอื่น ๆ ได้แก่ อัลมอนด์ เฮเซลนัท ผักใบเขียวเข้ม บร็อคโคลี่ อะโวคาโดและน้ำมันมะกอก
2. ข้าวโอ๊ต
ข้าวโอ๊ตและโฮลเกรนอื่น ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตับได้ การรับประทานข้าวโอ๊ตและโฮลเกรนทำให้ร่างกายได้รับทั้งเบต้ากลูแคน สารเพคติน วิตามินบีและสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับแข็ง ช่วยบำรุงตับให้แข็งแรงและยังช่วยสร้างสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ได้อีกด้วย
3. อาหารหมักดอง
นัตโตะ กิมจิ กะหล่ำปลีดอง (ซาวร์เคราต์ - sauerkraut) และอาหารหมักดองอื่น ๆ เป็นแหล่งโปรไบโอติกหรือแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ตามธรรมชาติ ซึ่งการวิจัยพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพตับ เพราะโปรไบโอติกเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับได้ โดยอาหารอื่น ๆ ที่มีโปรไบโอติก ได้แก่ นมคีเฟอร์ คอมบูชา โยเกิร์ตและชีส
4. ขมิ้น
สารออกฤทธิ์ในขมิ้นอย่างเคอร์คูมินนั้นจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ในการช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการบำรุงตับให้แข็งแรงค่ะ ขมิ้นมีส่วนช่วยลดระดับเอนไซม์ในตับ ซึ่งการมีเอนไซม์ในตับสูงสามารถเป็นตัวบ่งบอกถึงความเสียหายของเซลล์ตับ และการรับประทานขมิ้นเป็นประจำสามารถช่วยให้ไขมันในตับลดลงได้ ช่วยลดภาวะของโรคไขมันพอกตับและยังมีส่วนในการช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับได้อีกด้วย
5. กาแฟ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับประโยชน์ของกาแฟต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพของตับด้วยค่ะ การดื่มกาแฟมีส่วนช่วยหลายอย่าง เช่น ช่วยลดการสะสมของไขมันในตับ ลดเอนไซม์ตับ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ ลดการอักเสบในตับและยังช่วยป้องกันโรคตับแข็งด้วย นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการดื่มกาแฟประมาณ 3 แก้วต่อวัน มีประโยชน์ต่อผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคตับ เนื่องจากในกาแฟนั้นมีสารที่สำคัญต่อร่างกายหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโพลีฟีนอล กรดคลอโรจีนิก รวมถึงคาเฟอีนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการดื่มกาแฟเพื่อหวังให้ช่วยบำรุงตับได้ ควรเป็นกาแฟดำเท่านั้น เพราะทั้งน้ำตาลและครีมเทียมที่นิยมผสมในกาแฟนั้นกลับเป็นตัวทำอันตรายต่อตับได้ค่ะ
6. วอลนัท
การรับประทานวอลนัทและถั่วอื่น ๆ ประมาณ 15 - 30 กรัมต่อวัน สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคตับได้ เนื่องจากทั้งถั่วและวอลนัทเป็นแหล่งของไขมันดี วิตามินอี ไฟเบอร์และโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวอลนัทนั้นมีระดับไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับถั่วชนิดอื่น สารอาหารในวอลนัทจึงสามารถช่วยบำรุงตับ ทำให้การทำงานของตับมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
7. ปวยเล้ง
ปวยเล้งอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค เหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีสและสารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารชนิดนี้มีผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ปวยเล้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และยังมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ รวมถึงยังมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันการเกิดโรคอ้วน ช่วยลดไขมันและช่วยควบคุมคอเลสเตอรอล
8. ปลาทะเลลึก
ปลาทะเลลึกมักเป็นปลาที่มีไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า ปลาเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนโอเมก้า 3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย รวมไปถึงมีประโยชน์ต่อตับของเราด้วย เพราะสามารถช่วยลดปริมาณไขมันที่พอกในตับ ช่วยลดระดับของเอนไซม์ตับ เป็นที่ทราบกันดีว่าโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติในการช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมและสุขภาพตับด้วยเช่นกัน
9. กระเทียม
การบริโภคกระเทียมดิบสามารถช่วยลดปริมาณไขมันในตับและระดับของเอนไซม์ตับได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกจากการรับประทานกระเทียมดิบจะให้ผลดีในการช่วยบำรุงตับ การรับประทานอาหารเสริมอย่างกระเทียมอัดเม็ด ผงกระเทียมและสารสกัดจากกระเทียม ก็มีส่วนช่วยในการลดไขมันพอกตับ ช่วยลดการอักเสบ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับได้
10. น้ำมันมะกอก
งานวิจัยหลายชิ้นกล่าวถึงประโยชน์ของการบริโภคน้ำมันมะกอกและการช่วยบำรุงตับ โดยการบริโภคน้ำมันมะกอกสามารถช่วยลดภาวะของโรคไขมันพอกตับ รวมทั้งการดื้อต่ออินซูลินและสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 9 อาหารบำรุงตับ ช่วยดูแลรักษาตับ กินปกป้องตับ ลดเสี่ยงโรคเกี่ยวกับตับ
- 5 อาหารลดไขมันเกาะตับ ช่วยล้างสารพิษ ร่างกายสะอาด ลดความเสี่ยงโรค