5 ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน พฤติกรรมที่เสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย
ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย มีอะไรบ้าง ต้องรู้ไว้เลย! เพื่อที่เราจะได้ระวังตัวและปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใหม่ โดยความเสี่ยงนั้นมีทั้งที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้อย่างเช่น อายุที่มากขึ้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็จะทำให้เราให้ความสำคัญกับการบำรุงกระดูกมากขึ้น และมีกระดูกที่แข็งแรงขึ้นตามมา!
ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
1. น้ำหนักตัวต่ำ
เมื่อเรามีน้ำหนักตัวที่ต่ำ เราก็มีแนวโน้มที่จะมีเนื้อเยื่อกระดูกที่ต่ำด้วยเช่นกัน และเมื่อเรามีอายุมากขึ้น น้ำหนักตัวน้อยลง เราก็จะมีไขมันส่วนเกินบริเวณสะโพกน้อยลงในการรองรับแรงกระแทกจากการล้ม ซึ่งจะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะกระดูกหักมากขึ้นหากเราสะดุดล้ม
2. สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะชะลอเซลล์ที่มีส่วนสร้างกระดูกในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง การสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มโอกาสการหมดประจำเดือนให้เร็วขึ้น ซึ่งผู้หญิงที่หมดประจำเดือนนั้นจะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน กระดูกหักเพิ่มมากขึ้น
3. ดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกได้ว่าส่งผลต่อเซลล์ที่สร้างและสลายกระดูก รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์จนทำให้มีอาการมึนเมายังเสี่ยงทำให้การทรงตัวไม่มั่นคง และทำให้เรามีแนวโน้มที่จะสะดุดล้มและกระดูกหักตามมาได้
4. อายุมากขึ้น
เมื่อเราอายุมากขึ้น ประมาณอายุ 30 ปลายๆ (แตกต่างกันไปในแต่ละคน) ปริมาณเนื้อเยื่อกระดูกหรือความหนาแน่นของกระดูกที่เรามีอยู่จะเริ่มลดลงตามธรรมชาติ โดยเนื้อเยื่อกระดูกจะสูญเสียความแข็งแรงและมีแนวโน้มที่จะแตกหักมากขึ้น รวมถึงเมื่อเราอายุมากขึ้น การทรงตัวก็จะไม่ค่อยมั่นคง ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม สะดุดล้ม จนอาจกระดูกหักได้
5. เพศหญิง
โรคกระดูกพรุน กระดูกหัก พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะกระดูกจะสูญเสียความแข็งแรงเร็วขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงนั้นลดลง อีกทั้งผู้หญิงมักจะมีกระดูกที่เล็กกว่าผู้ชาย ซึ่งการมีกระดูกที่ใหญ่ในผู้ชายจะช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักได้มากกว่านั่นเอง
บทความที่คุณอาจสนใจ