โพแทสเซียมมีประโยชน์อย่างไร? 5 ประโยชน์ กินให้พอดี ดีต่อสุขภาพ
โพแทสเซียมมีประโยชน์อย่างไร? หากร่างกายได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็จะถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ดีต่อระบบประสาท ช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง รวมถึงยังช่วยควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกายได้อีกด้วย
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ ผ่านแอป MorDee ส่งยาให้ถึงบ้าน คลิกรับส่วนลดเลย!
โพแทสเซียมมีประโยชน์อย่างไร?
1. ลดความดันโลหิตสูง
โพแทสเซียม มีส่วนช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง ช่วยลดความดันโลหิต พร้อมช่วยให้ร่างกายกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกไป เพราะระดับโซเดียมที่สูงจะเป็นการเพิ่มความดันโลหิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว อีกทั้งความดันโลหิตสูงยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจได้อีกด้วย
2. ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
หากเรากินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ในขณะที่มีโซเดียมที่ต่ำด้วย ก็จะทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองได้ อีกทั้งโพแทสเซียมยังมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ช่วยรักษาการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตามการมีระดับโพแทสเซียมในร่างกายที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้ และเมื่อหัวใจเต้นผิดปกติ เลือดก็จะไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาการหลอดเลือดสมองก็คือการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองนั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่พอเหมาะก็จะถือว่าดีต่อร่างกาย
3. สำคัญต่อระบบประสาท
ระบบประสาท ถือเป็นศูนย์กลางช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ช่วยควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาตอบสนอง และการทำงานของร่างกายอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถ้าหากระดับโพแทสเซียมในเลือดลดลงก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการสร้างแรงกระตุ้นของเส้นประสาทได้ ในขณะที่หากร่างกายได้รับปริมาณโพแทสเซียมอย่างเพียงพอก็จะสามารถช่วยรักษาการทำงานของเส้นประสาทให้แข็งแรงได้
4. บำรุงกระดูกและกล้ามเนื้อ
โพแทสเซียมยังมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพกระดูกเช่นกัน โดยผู้ที่กินอาหารที่มีโพแทสเซียมก็มีแนวโน้มที่จะมีความหนาแน่นของกระดูกที่สูงกว่า รวมถึงโพแทสเซียมยังสามารถช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะสุขภาพที่เสี่ยงต่อการสูญเสียกล้ามเนื้อได้ อีกทั้งยังช่วยควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพราะถ้าหากระดับโพแทสเซียมในเลือดเปลี่ยนแปลงก็อาจจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวลงได้ รวมถึงหากระดับโพแทสเซียมไม่พอดีก็อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ แล้วเลือดก็จะไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ นอกจากนั้นโพแทสเซียมก็ยังมีส่วนช่วยให้มวลกระดูกสูง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะได้อีกด้วย
5. ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย
ปริมาณน้ำใน ICF และ ECF ได้รับผลกระทบจากความเข้มข้นของอิเล็กโทรไลต์ โดยเฉพาะโพแทสเซียมและโซเดียม ซึ่ง ICF คือของเหลวภายในเซลล์ (Intracellular Fluid) ส่วน ECF คือของเหลวภายนอกเซลล์ (Extracellular Fluid) โดยการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพที่ดี เพราะหากไม่สมดุลกันก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อหัวใจและไตตามมาได้ อีกทั้งภาวะคั่งน้ำหรืออาการบวมน้ำ (Water Retention) ก็ยังเกิดขึ้นเมื่อของเหลวไม่สมดุล กล่าวคือมีของเหลวส่วนเกินสะสมอยู่ภายในร่างกาย โดยโพแทสเซียมจะเข้ามาช่วยลดการคั่งน้ำด้วยการเพิ่มการผลิตปัสสาวะ รวมถึงยังช่วยลดระดับโซเดียมลงได้อีกด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ