6 อาหารที่มีซีลีเนียมสูง ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ลดอาการขาดซีลีเนียม
ซีลีเนียม คือ แร่ธาตุที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญต่อร่างกายในการช่วยส่งเสริมการทำงานพื้นฐานหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การสืบพันธุ์ไปจนถึงช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ป้องกันการเกิดมะเร็ง แถมยังทำงานเสริมกันกับวิตามินอีได้ดีอีกด้วย สำหรับใครที่ร่างกายขาดซีลีเนียม แนะนำให้กินอาหาร 6 อย่างนี้เลยค่ะ
ข้อควรระวังในการกินซีลีเนียม
แม้ว่าซีลีเนียมจะได้ชื่อว่าดีต่อร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวันสูงสุดคือไม่เกิน 400 ไมโครกรัม แต่หากร่างกายได้รับซีลีเนียมเกินกว่านี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการซีลีเนียมเป็นพิษ นำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินอาหาร ความจำ ท้องเสีย ผมร่วง เล็บเปราะ ลมหายใจเหม็น สีผิวเหลือง และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
1. ถั่วบราซิล
ถั่วบราซิล เรียกได้ว่าอุดมไปด้วยซีลีเนียมมากกว่าเนื้อสัตว์ค่ะ โดยถั่วบราซิล 1 ออนซ์ มีซีลีเนียมสูงถึง 544 ไมโครกรัม ซึ่งปริมาณที่แนะนำต่อวันคือไม่เกิน 400 ไมโครกรัม ดังนั้นเราจึงต้องจำกัดปริมาณการกินถั่วบราซิลไม่ให้มากจนเกินไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อาการท้องเสีย ลมหายใจเหม็น และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สำหรับผู้ที่ขาดซีลีเนียม ถั่วบราซิลถือเป็นตัวเลือกที่ดีหากกินในปริมาณที่พอเหมาะค่ะ
2. ไข่
ไข่ต้ม 1 ฟอง อุดมไปด้วยซีลีเนียม 20 ไมโครกรัม หรือใครที่อยากกินเป็นไข่แบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่ดาวหรือไข่เจียว ก็ได้รับซีลีเนียมได้ไม่ต่างกันค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วซีลีเนียมจะอยู่ในไข่แดงมากกว่า ส่วนในไข่ขาวจะมีซีลีเนียมประมาณ 9 ไมโครกรัม ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่กลัวคอเลสเตอรอลในไข่แดง โดยไข่ทั้งฟองนั้นถือว่าอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน, ไบโอติน, วิตามินดี รวมถึงซีลีเนียค่ะ
3. อาหารทะเล
อาหารทะเล ก็ถือเป็นแหล่งของซีลีเนียมเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะกุ้งและทูน่า โดยกุ้ง 3 ออนซ์ หรือประมาณ 12 ตัว อุดมไปด้วยซีลีเนียมประมาณ 42.1 ไมโครกรัม ส่วนทูน่า โดยเฉพาะทูน่าครีบเหลือง ในปริมาณ 3 ออนซ์ อุดมไปด้วยซีลีเนียม 92 ไมโครกรัม ซึ่งนอกไปจากซีลีเนียมแล้ว ทูน่ายังถือเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 มาช่วยต้านการอักเสบ รวมถึงช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดหัวใจและสมองได้อีกด้วย
4. ข้าวกล้อง
ข้าว โดยเฉพาะข้าวกล้อง ในปริมาณ 1 ถ้วยตวง อุดมไปด้วยซีลีเนียม 19 ไมโครกรัม ในผู้ที่ขาดซีลีเนียมและอยากเติมซีลีเนียมให้ร่างกาย แนะนำให้กินข้าวกล้องกับเนื้อไก่เลยค่ะ จะทำให้เราได้รับซีลีเนียมเพิ่มขึ้น เพราะในเนื้อไก่ก็อุดมไปด้วยซีลีเนียมเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกไปจากซีลีเนียมแล้ว ข้าวกล้องก็ยังอุดมไปด้วยแมกนีเซียมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกันค่ะ
5. เนื้อวัว
เนื้อวัว 100 กรัม อุดมไปด้วยซีลีเนียม 36 ไมโครกรัม ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ขาดซีลีเนียมเลยค่ะ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่กำลังไดเอท อาจจะเลือกกินอาหารที่มีซีลีเนียมอื่นๆ แทน เนื่องจากเนื้อวัวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เสี่ยงต่อคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดด้วยค่ะ ซึ่งเราอาจจะเลือกกินเป็นเนื้อวัวแบบลีนไม่ติดมัน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเพื่อสุขภาพค่ะ เพราะนอกจากซีลีเนียมแล้ว เนื้อวัวยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ที่มีส่วนช่วยเพิ่มพลังงานและดีต่อระบบประสาท รวมถึงยังมีธาตุเหล็กและโปรตีนอีกด้วย
6. เนื้อไก่
นอกจากเนื้อวัวแล้ว เนื้อไก่ก็ถือเป็นแหล่งของซีลีเนียมค่ะ โดยเนื้อไก่ประมาณ 3 ออนซ์ มีซีลีเนียมประมาณ 22-25 ไมโครกรัม ในขณะที่หากเป็นไก่งวง ก็จะมีซีลีเนียมที่สูงกว่า คือประมาณ 31 ไมโครกรัมต่อ 3 ออนซ์ โดยแนะนำให้เลือกกินเป็นเนื้อไก่แบบลีนไม่ติดมัน ก็จะถือว่าดีต่อสุขภาพกว่ามากค่ะ เพราะอย่างไรแล้วเนื้อไก่ก็ถือเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี รวมถึงยังมีกรดอะมิโนอย่าง ทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการนอนหลับให้ดีขึ้นได้อีกด้วยค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ