เช็ค! ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน พร้อมรู้ทันโซเดียมแฝง สาเหตุความดันสูง
ของบางอย่างกินมากไปก็ไม่ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้น โซเดียม วันนี้เราจึงจะพามาดูกันว่า ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน ควรเป็นเท่าไหร่กันนะ พร้อมพาไปรู้จักโซเดียมแฝง ตัวการของสาเหตุความดันสูง โรคไต ที่ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็คือโซเดียมเหมือนกัน!
โซเดียมคืออะไร
โซเดียมคือ สารอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยทำหน้าที่รักษาความสมดุลของเหลวในร่างกาย หรือก็คือน้ำ และยังช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย นอกจากนี้โซเดียมยังมีส่วนในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อด้วย ซึ่งหากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ และส่งผลให้เกิดอันตรายและโรคต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจและหลอดเลือด
โดยโซเดียมที่เราบริโภคกันอยู่ในปัจจุบันนั้นจะอยู่ในรูปของเกลือแกง และน้ำปลา ที่เราใช้ในการปรุงอาหารนั่นเองค่ะ แต่นอกเหนือจากเกลืองแกงและน้ำปลาแล้ว รู้หรือไม่คะว่ายังมีโซเดียมแฝงที่ไม่ใช้เกลือ อยู่ในอาหารอีกหลายๆ ประเภทอีกด้วย! ฉะนั้นควรระวังการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในแต่ละวันให้ดีเลยล่ะ
ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน
โดยทั่วไปร่างกายของเราต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วัน แน่นอนว่าการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในหนึ่งวันไม่ใช่เรื่องดี แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะเลี่ยงการบริโภคโซเดียมได้ยาก และสำหรับบางคนก็อาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่า 1,500 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ปริมาณโซเดียมสูงสุดที่เหมาะสม บริโภคแล้วไม่อันตรายจึงไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชานั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกินโซเดียมให้ถึง 2,000 มิลลิกรัม/วันนะคะ เพราะหากลดโซเดียมได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมากเท่านั้น ซึ่งวิธีการลดโซเดียมที่ดีทางหนึ่งก็คือการทำความรู้จักกับโซเดียมแฝง และคอยสังเกตว่าอาหารที่เราซื้อนั้นมีโซเดียมแฝงเหล่านี้อยู่ในปริมาณมากหรือไม่ รวมถึงการลดการใช้โซเดียมแฝงปรุงอาหารให้น้อยลง
โซเดียมแฝงคืออะไร
โซเดียมแฝงคือ โซเดียมที่อยู่ในสารประกอบต่างๆ ที่ไม่ใช่เกลือ มักจะถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหาร ประกอบอาหารต่างๆ โดยโซเดียมเหล่านี้อาจไม่ได้มีรสชาติเค็ม จึงทำให้เราบริโภคมาเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัวได้ ซึ่งโซเดียมแฝงที่ไม่ใช่เกลือนี้จะสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ เป็นวัตถุเจือปนที่มักมีคำว่าโซเดียมประกอบอยู่ในชื่อนั่นเองค่ะ จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย
1. โซเดียมไนไตรท์
โซเดียมไนไตรท์ เป็นวัตถุเจือปนอาหาร มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสเค็มเล็กน้อย โดยโซเดียมไนไตรท์จะช่วยตรึงสีของเนื้อสัตว์ให้มีสีแดงน่ากิน ทั้งยังช่วยป้องกันและยับยั้งการเน่าเสีย จึงมักจะถูกนำมาใช้กับอาหารประเภทไส้กรอก แฮม แหนม หมูยอ กุนเชียง ปลาร้า ปลาแห้ง เป็นต้น
2. โซเดียมอัลจิเนต
โซเดียมอัลจิเนต เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ที่ช่วยให้เกิดการคงตัว ทำให้อาหารที่ใส่โซเดียมอัลจิเนตลงไปมีลักษณะข้นและหนืดขึ้น คงรูปร่างได้ มักจะพบในอาหารประเภทไอศกรีม เจลลี่ ไข่มุก เส้นแก้ว เครื่องดื่มที่มีความข้นหนืด
3. โมโนโซเดียมกลูตาเมต
โมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ผงชูรส โมโนโซเดียมกลูตาเมตเป็นวัตถุเจือปนอาหาร มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติที่ชัดเจน แต่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อย กลมกล่อมขึ้น มักจะถูกหยิบไปใช้ในการปรุงอาหารคาวแทบทุกประเภทเลยทีเดียว ซึ่งแม้โมโนโซเดียมกลูตาเมตจะไม่มีรสชาติที่ชัดเจน แต่สารกลูตาเมตจากผงชูรสนั้นจะไปกระตุ้นตุ่มรับรสในปากและลำคอของเราให้ขยายตัวจึงทำให้ร่างกายรับรสได้ไวกว่าปกติ ทำให้เรารู้สึกว่ารสชาติของอาหารอร่อยกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น เราจึงมักใส่โมโนโซเดียมกลูตาเมตลงไปในอาหารมากไปโดยที่ไม่รู้ตัว
4. โซเดียมไบคาร์บอเนต
โซเดียมไบคาร์บอเนต หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว สามารถละลายน้ำได้ เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมในผงฟูนั่นเอง โดยโซเดียมไบคาร์บอเนตจะช่วยให้อาหารมีลักษณะฟูขึ้น จึงมักนำมาใช้ทำขนมประเภทเบเกอรี่ พบมากได้ในอาหารประเภทขนมปัง เค้ก คุกกี้ โดนัท แป้งสำเร็จรูป
5. โซเดียมเบนโซเอต
โซเดียมเบนโซเอต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารกันเสีย/สารกันบูด มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว สามารถละลายในน้ำได้ โดยโซเดียมเบนโซเอตจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี จึงมักใช้เป็นวัตถุกันเสืย เพื่อการถนอมอาหารหรือยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น มักจะพบได้ในอาหารประเภทน้ำสลัด น้ำส้มสายชู น้ำอัดลม แยม น้ำผลไม้ อาหารดอง เป็นต้น
6. โซเดียมซอร์เบต
โซเดียมซอร์เบต เป็นสารกันเสียอีกหนึ่งชนิด ที่ช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น แต่สารกันเสียชนิดนี้มักจะพบได้ในชีส เนย ไวน์ โยเกิร์ต เป็นต้น
รู้ ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน พร้อมรู้ทันโซเดียมแฝง เหล่านี้แล้ว ก่อนบริโภคอะไรก็อย่าลืมดูฉลากให้ดีก่อนนะคะ และอย่าลืม ลด ละ การบริโภคเค็มและโซเดียมแฝงเหล่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัว แถมโรคความดัน โรคไตถามหาได้ง่ายๆ เลยล่ะ!
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ปริมาณน้ำตาลที่ควรกินต่อวัน สำหรับแต่ละช่วงวัย กินเท่าไหร่ไม่เสี่ยงโรคอ้วน
- ปริมาณไข่ที่ควรกิน สำหรับแต่ละช่วงวัย ช่วยเพิ่มโปรตีน ไม่เสี่ยงไขมันในเลือดสูง