ปริมาณไข่ที่ควรกิน สำหรับแต่ละช่วงวัย ช่วยเพิ่มโปรตีน ไม่เสี่ยงไขมันในเลือดสูง
เราควรกินไข่วันละกี่ฟอง? เชื่อว่าหลายๆ คนคงกำลังสงสัยกันอยู่ใช่ไหมล่ะคะ วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้วว่า ปริมาณไข่ที่ควรกิน สำหรับแต่ละช่วงวัย นั้นควรเป็นเท่าไหร่กันนะ! แม้ว่าไข่จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถกินไข่ได้ในปริมาณมากๆ ค่ะ เพราะในประโยชน์นั้นก็ยังแฝงความเสี่ยงไว้ไม่น้อยเลย ฉะนั้นมาดูกันดีกว่าค่ะว่า เราควรกินไข่ในปริมาณเท่าไหนจึงจะดีต่อร่างกายมากที่สุด!
ทำไมจึงไม่ควรกินไข่เยอะเกินไป?
แม้ว่าไข่ จะเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก อุดมไปด้วยโปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงวิตามินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน A วิตามิน B1 วิตามิน B2 วิตามิน D แคลเซียม และธาตุเหล็ก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต บํารุงสมอง เสริมสร้างความจํา บํารุงสายตา และสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกัน ไข่ก็มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งในไข่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงกว่า 300 มิลลิกรัม ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ร่างกายควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัมค่ะ ฉะนั้นนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงไม่ควรกินไข่เยอะเกินไป และควรกินให้เหมาะสมกับช่วงวัยด้วยเช่นกัน
แต่ละวัยควรกินไข่กี่ฟอง? ปริมาณไข่ที่ควรกิน สำหรับแต่ละวัย
- เด็กทารกตั้งแต่อายุ 6 เดือน : เริ่มที่ไข่แดงต้มสุก 1/2 ฟอง ถึง 1 ฟอง ผสมกับข้าวบด ในครั้งแรกควรให้กินในปริมาณที่น้อยๆ ก่อน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น
- เด็กอายุ 7-12 เดือน : ให้กินไข่ต้มสุกวันละ 1/2 ฟอง หรือ 1 ฟอง
- เด็กวัยก่อนเรียน 1-5 ปี และเด็กวัยเรียน 6-13 ปี : ให้กินไข่เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง
- วัยทำงาน : ให้กินไข่เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง
- ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี : ให้กินไข่เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง
- หญิงตั้งควรภ์และหญิงให้นมบุตร : ให้กินไข่เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง
- ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง : ไม่ควรกินเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ หรือกินตามคำแนะนำของแพทย์ และเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
- ผู้ป่วยโรคอื่นๆ : สามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง หรือกินตามคำแนะนำของแพทย์
กินไข่อย่างไร ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
1. กินไข่ให้เหมาะสมตามช่วงวัย อย่างที่แนะนำไปข้างต้นค่ะ ว่าแต่ละช่วงวัยก็ควรกินไข่ในปริมาณที่ต่างกันไป เพื่อควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล ซึ่งหากต้องการได้รับสารอาหารจากไข่อย่างเพียงพอ โดยไม่เกิดผลข้างเคียงตามมา ก็แนะนำให้กินไข่ให้เหมาะสมตามปริมาณของแต่ละช่วงวัยค่ะ
2. เลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะไข่ดิบอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้
3. เพิ่มโปรตีนจากแหล่งอื่นด้วย ไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี และให้โปรตีนถึง 7 กรัม แต่หากใครที่ต้องการโปรตีนในปริมาณมาก การกินเพียงไข่อย่างเดียวก็จะทำให้คอเลสเตอรอลพุ่งสูงขึ้นตามไปได้ จึงควรเพิ่มโปรตีนจากอาหารอื่นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ ปลา พืชตะกูลถั่วต่างๆ
4. ลดคอเลสเตอรอลจากการปรุงอาหาร นอกจากเราจะได้รับคอเลสเตอรอลจากไข่แล้ว การนำไข่ไปปรุงอาหารด้วยวิธีการทอดก็อาจทำให้คอเลสเตอรอลยิ่งมากขึ้นตามไปอีกค่ะ ฉะนั้นหากอยากลดคอเลสเตอรอลให้น้อยลง แนะนำให้นำไข่ไปปรุงอาหารด้วยวิธีการต้ม ตุ๋น หรือไม่ใส่น้ำมันในการปรุงอาหาร เพื่อลดคอเลสเตอรอลที่อาจเพิ่มขึ้นจากน้ำมัน
ขอบคุณข้อมูลจาก :
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
บทความที่คุณอาจสนใจ
- เช็คปริมาณคอเลสเตอรอลในไข่ 8 ประเภท ทั้งสุกและดิบ พร้อมปริมาณที่ควรทาน
- 7 อันดับ อาหารคอเลสเตอรอลสูง ทานเยอะ ไขมันอุดตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก