นอนไม่หลับเกิดจากอะไร? 8 สาเหตุที่รบกวนการนอนหลับตอนกลางคืน
นอนไม่หลับเกิดจากอะไร? มาลองเช็คกันว่า 8 สาเหตุนี้มีส่วนทำให้เรานอนไม่หลับหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด่วนๆ เลย! เพราะการนอนหลับนั้นสำคัญต่อสุขภาพหลายๆ ด้าน หากอดนอนหรือนอนน้อยบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคตามมาได้!
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ ผ่านแอป MorDee ส่งยาให้ถึงบ้าน คลิกรับส่วนลดเลย!
นอนไม่หลับเกิดจากอะไร?
1. ความเครียด
ความเครียดสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาในร่างกายที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้ การตอบสนองทางกายภาพของร่างกายต่อความเครียดนั้นจะทำให้เกิดภาวะตื่นตัวที่มากเกินไป เมื่อเรานอนไม่หลับก็อาจกลายเป็นความเครียดเพิ่มขึ้นได้อีก ทำให้วงจรความเครียดและการนอนไม่หลับนั้นยากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้นอนไม่หลับได้ด้วยเช่นกัน
2. ตารางการนอนหลับที่ผิดเพี้ยน
ผู้ที่มีตารางการนอนที่มีส่วนทำให้นาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) ผิดเพี้ยนไป เช่น ผู้ที่ทำงานเป็นกะ ทำงานดึก หรือเจ็ทแล็ก (Jet Lag) ซึ่งนาฬิกาชีวภาพนี้เป็นตัวควบคุมวงจรการหลับและตื่น การเผาผลาญ รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ทำงานตอนกลางคืนและนอนตอนกลางวัน หรือเจ็ทแล็กจนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโซนเวลาได้ ก็มีแนวโน้มที่จะนอนไม่หลับได้
3. ความเจ็บปวดทางกาย
อาการปวดตามร่างกาย นอนแล้วไม่รู้สึกสบาย ก็มีส่วนรบกวนการนอนจนทำให้นอนไม่หลับได้ เช่น โรคข้ออักเสบ ปวดหลัง ปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ ปลายประสาทอักเสบ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจหรือระบบประสาท เบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว เหล่านี้มีส่วนรบกวนการนอนหลับและอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้อีกด้วย
4. การกินยาบางประเภท
การกินยาเพื่อรักษาโรคบางชนิดก็มีส่วนทำให้นอนไม่หลับได้ เช่น ยาความดันโลหิต ยารักษาโรคหอบหืด และยาต้านอาการซึมเศร้า ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนในตอนกลางวัน และเมื่อเรานอนตอนกลางวัน ก็ส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้ ซึ่งมีส่วนทำให้ตารางการนอนหลับของเราคลาดเคลื่อนนั่นเอง นอกจากนั้นยาที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ รวมถึงปัญหาต่อมไทรอยด์ ก็มีส่วนทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
5. กินเยอะมื้อเย็นหรือก่อนนอน
การกินมากเกินไปอาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดร่างกายขณะนอนราบ ส่งผลให้นอนไม่หลับได้ อีกทั้งในบางรายอาจมีอาการแสบร้อนกลางอก เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งก็มีส่วนทำให้ร่างกายตื่นตัวและนอนหลับได้ยาก นอกจากนั้นอาหารมื้อใหญ่ที่เรากินตอนเย็นหรือก่อนนอนยังมีส่วนเร่งการเผาผลาญและสมองให้เร็วขึ้น จนอาจนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยหรือแม้แต่ฝันร้ายได้
6. ดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน นิโคติน ตอนบ่ายหรือเย็น
การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงนิโคตินในบุหรี่ ในช่วงบ่ายหรือเย็น มีส่วนทำให้นอนหลับยากขึ้นและนอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าอาจจะทำให้เรารู้สึกง่วงและหลับได้ แต่ก็จะหลับไม่ลึกและมักจะตื่นกลางดึก ซึ่งถือเป็นการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ เพราะการหลับลึกถือว่าสำคัญต่อการพักผ่อน ความจำ และสมองของเรา
7. ออกกำลังกายก่อนนอน
แม้ว่าการออกกำลังกายจะดีต่อการนอนหลับ แต่ถ้าออกกำลังกายใกล้เวลานอนก็อาจเป็นการรบกวนการนอนหลับได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็หลีกเลี่ยงไว้จะดีกว่า โดยแนะนำให้ออกกำลังกายให้เสร็จอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน จึงจะถือว่าดีต่อการนอนของเรา
8. ดื่มน้ำเยอะก่อนนอน
การดื่มน้ำเยอะก่อนเข้านอน อาจทำให้เราต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ถือเป็นการรบกวนการนอนหลับของเราได้ โดยแนะนำให้แบ่งการดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน แทนการดื่มทีเดียวในปริมาณมากๆ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน
บทความที่คุณอาจสนใจ