5 วิธีคลายเครียด คิดมาก วิตกกังวล ช่วยลดเครียดสะสม ลดซึมเศร้า
การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรามักนำมาซึ่งความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติในช่วงวิกฤต การมีความวิตกกังวลเป็นครั้งคราวถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ตึงเครียด
หากคุณรู้สึกกังวล กระสับกระส่าย และรู้สึกมีความเครียดสะสมตลอดเวลา การหาวิธีเพื่อแก้วิตกกังวลและลดเครียดถือเป็นวิธีที่อาจช่วยลดผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของเราได้
5 วิธีแก้วิตกกังวล ลดเครียด ลดซึมเศร้า
1. ออกกำลังกาย
เมื่อคุณรู้สึกแย่ ยาที่ดีที่สุดอาจเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายให้ความรู้สึกที่ดี ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ลดความตึงเครียด และการออกกำลังกายยังส่งผลต่อเคมีในสมองของเราด้วย
การออกกำลังกายส่งผลต่อสารสื่อประสาทที่ควบคุมความวิตกกังวล ซึ่งรวมถึงเซโรโทนิน นอเรพิเนฟริน โดปามีน และเอ็นดอร์ฟิน ยิ่งไปกว่านั้น การออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมอง ซึ่งเหตุผลเหล่านี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมการออกกำลังกายเป็นประจำจึงช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ช่วยลดความเครียดเรื้อรัง และช่วยลดซึมเศร้าได้
2. เพิ่มการกินอาหารเพื่อสุขภาพ
แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงจะไม่ช่วยรักษาอาการวิตกกังวลได้โดยตรง แต่ก็สามารถช่วยให้เรารับมือกับอาการผิดปกติทางอารมณ์ได้ดีขึ้น เพราะอาหารเพื่อสุขภาพอาจส่งผลต่ออารมณ์ได้ ตัวอย่างเช่น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะถูกเผาผลาญได้ช้า ดังนั้นจึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สม่ำเสมอและส่งผลให้อารมณ์ของเราสงบ ปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้เรารู้สึกกระวนกระวายใจหรือวิตกกังวลมากขึ้นได้
ในทางกลับกัน อาหารแปรรูปและอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและอารมณ์ของเราแปรปรวนได้ ดังนั้นเราจึงควรต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
3. ฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิจะช่วยทำให้เรามีสติได้มากขึ้น จิตใจสงบและอาจสามารถช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่วิตกกังวลไปได้ การฝึกสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจสามารถกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับสร้างความสงบ และการฝึกการหายใจและการทำสมาธิจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความคิดด้านลบและวิตกกังวลได้
4. อย่าคิดฟุ้งซ่าน
หลายคนที่มีปัญหาวิตกกังวล อาจตื่นตุวไปกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายจนเกินไป และอาจเกิดความคิดเชิงลบได้โดยไม่รู้ตัวและทำให้เราเกิิดความเครียดสะสมและอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้นเพื่อช่วยให้ตนเองไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่านแนะนำให้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ด้วยคำถามต่อไปนี้:
- เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่เหตุการณ์ที่น่ากลัวนี้จะเกิดขึ้นจริง?
- มีวิธีแก้ไขหรือป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่?
- ลองนึกภาพผลลัพธ์ที่เป็นไปในทางบวกมากขึ้น?
การตั้งคำถามแบบนี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนเหตุการณ์ที่ตึงเครียดได้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เปลี่ยนวิธีการมองปัญหาและตอบสนองต่อเหตุการณ์ไปในทางบวกได้มากขึ้น รวมถึงยังได้ช่วยบ่มเพาะทัศนคติเชิงบวกได้ในระยะยาว
5. ปรึกษาแพทย์
หากความวิตกกังวลเริ่มครอบงำความคิดและการตัดสินใจของเรา และทำให้ยากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียน กิจกรรมทางสังคม หรือความสัมพันธ์ อาจถึงเวลาในการขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 6 อาหารช่วยเพิ่มโดปามีน สารแห่งความสุข ช่วยลดความเครียด ช่วยเพิ่มความจำ
- 7 อาหารต้านโรคซึมเศร้า ช่วยลดความเครียด คลายอาการวิตกกังวล