PTSD คืออะไร...ภาวะป่วยทางจิตใจหลังเจอเหตุการณ์รุนแรง
ตั้งแต่ต้นปี 2020 ได้ผ่านมา ต้องถือได้ว่าชาวไทยเจอแต่เรื่องหนักหนาสาหัสมามากเลยค่ะ เหตุการณ์ร้ายแรงที่ผ่านมาทำให้เกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งทำให้บางคนนั้นเกิดภาวะเครียดหลังจากเจอเหตุการ์ร้ายแรง หรือที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า PTSD
PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ โรคเครียดหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งก็คือสภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนความรู้สึกอย่างมาก เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ สงคราม ฆาตรกรรม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นๆ รวมถึงผู้สูญเสียจะมีความเครียดชนิดรุนแรงมากเกิดขึ้น และส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันต่อมา
ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรค PTSD
- มีความผิดปกติของการทำงานของสมองในส่วนควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนของร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด
- มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคทางจิตและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- เคยประสบอุบัติเหตุหรืออยู่ในเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น เครื่องบินตก รถชน น้ำท่วม ไฟไหม้ สงคราม ฆาตรกรรม ลักพาตัว จับตัวประกัน เป็นต้น
- บุคคลใกล้ชิดประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายแรง
- เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ เป็นต้น
อาการของโรค PTSD
1. ฝันร้ายหรือเห็นภาพของเหตุร้ายซ้ำๆ
ผู้ป่วยด้วยโรค PTSD ส่วนมากมักผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง และอาจทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพของเหตุการณ์ร้ายเหล่านี้ซ้ำๆ หรือมักฝันร้ายถึงเหตุการณ์นี้ซ้ำๆ ซึ่งอาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ใจและไม่สามารถทำใจให้สงบได้
2. มีอารมณ์รุนแรง
ผู้ป่วยบางคนก็แสดงอารมณ์รุนแรง เช่น โมโหอย่างรุนแรง หงุดหงิด นอนหลับยากมากขึ้น ขาดสมาธิหรือไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมใดๆ รวมถึงในบางครั้งยังมีอาการหวาดระแวง ตกใจง่าย รู้สึกตื่นตัวหรือตื่นเต้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจมีพฤติกรรมดื่มเหล้าด้วย
3. มีความรู้สึกบั่นทอนจิตใจ
ในบางครั้งผู้ป่วยด้วยโรค PTSD ยังอาจจะมีความกระวนกระวายใจ รู้สึกผิด สิ้นหวังหมดหวัง ไม่สนใจกิจกรรมที่ตนเองเคยชอบทำ ไม่สนใจครอบครัวคนใกล้ชิด จิตใจไม่สงบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดได้อีกต่อไป
4. ไม่อยากพบเจอผู้คน
หนึ่งในอาการของโรค PTSD ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากจะพบเจอใคร โดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่พบเจอใครรวมถึงสถานที่ที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังมีอาการไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่พูดอะไรและแยกตัวออกมา ไม่ทำกิจกรรมใดๆ กับคนอื่นอีก
5. มีอาการทางร่างกาย
อาการทางร่างกายที่ผู้ป่วยโรค PTSD แสดงออกมามักจะมีอาการปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อเกร็ง
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรค PTSD
โรค PTSD นั้นสร้างความทุกร์ทรมานทางด้านจิตใจให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อเป็นแล้วก็ควรไปพบแพทย์และเข้ารีบการรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตัวให้ได้ตามที่แพทย์สั่ง แต่นอกจากการรักษาด้วยแพทย์และการใช้ยาแล้ว เรายังสามารถรักษาด้วยจิตบำบัดได้ด้วยเช่นกัน โดยควรทำให้ได้ดังนี้ค่ะ
- ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและควรพยายามทำใจยอมรับให้ได้ถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงยอมรับว่ากำลังป่วย
- ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ รวมถึงอย่าใช้สารเสพย์ติดเพื่อแก้ปัญหา
- ระวังอย่าให้เครียด ลองหางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ เพื่อไม่ให้ร่างกายกลับไปนึกถึงเรื่องร้ายแรงที่ผ่านมา
- เข้ากลุ่มบำบัด ลองเข้ากลุ่มบำบัดก็ได้เพื่อให้ได้แบ่งปันเรื่องราวและความรู้สึกกับผู้ที่เจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน
บทความที่คุณอาจสนใจ
เช็คก่อนจะสาย 9 สัญญาณ โรคซึมเศร้า ตกลงเราเป็นหรือไม่เป็น
10 วิธีมีความสุข ที่จะช่วยให้ผ่านวันเลวร้ายได้แบบสวยๆ