ผักอะไรควรกินสุก? 5 ผัก กินสุกดีกว่ากินดิบ สารอาหารและประโยชน์สูง
ผักอะไรควรกินสุก? วันนี้เรามีผัก 5 ชนิดที่ควรกินสุกมาแนะนำ เรียกได้ว่าเป็นผักที่มีสารอาหารและประโยชน์ต่อสุขภาพที่สูงกว่าการกินดิบ หากเลือกได้ก็ควรกินสุกจะดีกว่านะ!
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ ผ่านแอป MorDee ส่งยาให้ถึงบ้าน คลิกรับส่วนลดเลย!
ผักอะไรควรกินสุก?
1. แคร์รอต
การนึ่งแคร์รอตให้สุก จะช่วยกระตุ้นการปล่อยเบต้าแคโรทีน (beta-carotene) ที่อยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ (carotenoids) และถือเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ออกมา ซึ่งจะมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยรวม พร้อมช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูก ช่วยในการมองเห็น ดีต่อสุขภาพดวงตา โดยเราสามารถย่าง ต้ม หรือนึ่งก็ได้ ซึ่งระดับไฟโตนิวเทรียนท์ (phytonutrients) ในแคร์รอตจะสูงหากใช้น้ำน้อยในการทำให้สุก โดยเฉพาะการอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟที่ถือเป็นวิธีแนะนำ แต่ไม่แนะนำให้ทอด เพราะกระบวนการทอดอาจจะทำให้ระดับแคโรทีนอยด์ลดลงได้
2. มะเขือเทศ
แม้ว่ามะเขือเทศจะมีวิตามินซีลดลงเมื่อทำให้สุก แต่มะเขือเทศสุกกลับมีระดับไลโคปีน (lycopene) ที่สูงกว่าแบบดิบเลยก็ว่าได้ เนื่องจากความร้อนสามารถทำลายผนังเซลล์บางส่วนในพืช ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ซึ่งไลโคปีนนี้ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยต่อสู้กับมะเร็งได้ดี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
3. ปวยเล้ง
ปวยเล้ง หรือ ผักโขม แบบนึ่ง มีส่วนช่วยลดกรดออกซาลิก (oxalic acid) ได้ ซึ่งกรดออกซาลิกตัวนี้สามารถรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็กและแคลเซียมของร่างกาย อีกทั้งการนึ่งปวยเล้งยังมีส่วนช่วยรักษาระดับของโฟเลตหรือวิตามินบี 9 ที่มีบทบาทในการสร้าง DNA และช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิดได้อีกด้วย นอกจากนั้นปวยเล้งสุกยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุเหล็กที่มากขึ้นอีกด้วย
4. หน่อไม้ฝรั่ง
หน่อไม้ฝรั่ง อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี และยิ่งถ้าเป็นหน่อไม้ฝรั่งแบบสุกก็จะยิ่งมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับกรดฟีโนลิก (phenolic acid) ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้อีกด้วย นอกจากนั้นวิตามินเอและวิตามินอีที่อยู่ในหน่อไม้ฝรั่งยังถือเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน นั่นหมายความว่าร่างกายของเราจะดูดซึมได้ง่ายขึ้นหากกินหน่อไม้ฝรั่งคู่กับแหล่งไขมัน โดยเฉพาะการปรุงสุกกับน้ำมันมะกอกนั่นเอง
5. พริกหวาน
พริกหวาน หรือ พริกระฆัง เป็นแหล่งของไลโคปีน (lycopene) และกรดเฟอรูลิก (ferulic acid) และยิ่งถ้าเราทำให้สุกด้วยวิธีการย่างหรือผัด ก็จะสามารถช่วยให้ดูดซึมวิตามินได้มากขึ้น แต่แนะนำไม่ให้ทำจนสุกมากเกินไป เพราะว่าวิตามินซีจะถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน โดยพริกหวานที่ปรุงสุกและยังกรอบจะคงคุณค่าทางอาหารไว้มากกว่าพริกหวานที่ปรุงสุกนานๆ อีกทั้งพริกหวานที่ผัดด้วยน้ำมันมะกอกยังช่วยให้ดูดซึมวิตามินเอได้มากกว่าอีกด้วย นอกจากนั้นพริกหวานยังเป็นแหล่งของแคโรทีนอยด์ที่ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสะที่มีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเมือทำให้สุก ความร้อนจะทำลายผนังเซลล์ ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมแคโรทีนอยด์ได้ง่ายขึ้น โดยแนะนำให้ย่าง แทนการนึ่งหรือต้ม เพราะวิตามินสามารถรั่วไหลออกมาในน้ำได้ โดยเฉพาะวิตามินซี
บทความที่คุณอาจสนใจ