รีเซต

7 อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง โรคไตควรเลี่ยง ไตทำงานลดลง กำจัดฟอสฟอรัสได้ต่ำ

7 อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง โรคไตควรเลี่ยง ไตทำงานลดลง กำจัดฟอสฟอรัสได้ต่ำ
pommypom
19 มีนาคม 2565 ( 16:10 )
37.5K

     แม้ว่าฟอสฟอรัส (Phosphorus) จะถือเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะมีประโยชน์หลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับแคลเซียม ช่วยในเรื่องของกระดูกและฟัน รวมถึงยังช่วยในเรื่องการทำงานของระบบประสามและการหดตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งฟอสฟอรัสส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมและส่วนหนึ่งที่เหลือในเลือดจะถูกขับออก โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะรักษาสมดุลของฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต การทำงานของไตจะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกำจัดฟอสฟอรัสลดลงตามไปด้วย จึงทำให้ร่างกายมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่สูงนั่นเอง

 

 

1. ผลิตภัณฑ์จากนม

     ผลิตภัณฑ์จากนม ไม่ว่าจะเป็นชีส โยเกิร์ต หรือนม โดยเฉพาะแบบไขมันต่ำและแบบไม่มีไขมัน เรียกได้ว่ามีฟอสฟอรัสสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากนมแบบไขมันเต็มอีกค่ะ แม้ว่าแบบไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับคนลดน้ำหนัก แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว ผลิตภัณฑ์จากนมถือว่าเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเลยค่ะ

 

 

2. ถั่ว

     ถั่ว โดยเฉพาะถั่วเลนทิล 100 กรัม มีฟอสฟอรัสอยู่ 180 มิลลิกรัม หรือ 14% DV (ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) รวมถึงถั่วขาว ถั่วชิกพีหรือถั่วลูกไก่ และถั่วปินโต ก็มีฟอสฟอรัสเช่นกันค่ะ และเมื่อนำไปแช่หรือหมัก ก็จะยิ่งเพิ่มฟอสฟอรัสมากขึ้นไปอีก ซึ่งหากร่างกายได้รับฟอสฟอรัสในปริมาณที่พอเหมาะก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต แนะนำให้หลีกเลี่ยงจะดีกว่าค่ะ

 

 

3. ธัญพืชเต็มเมล็ด

     ธัญพืชเต็มเมล็ด หรือ โฮลเกรน (Whole Grain) เป็นธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อยหรือไม่ผ่านเลย แม้ว่าจะได้ชื่อว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพมากกว่าธัญพืชที่ผ่านการขัดสี แต่ฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ในธัญพืชจะพบได้ในบริเวณชั้นนอกของเอนโดสเปิร์ม ที่เรียกว่า แอลิวโรน (aleurone) และชั้นใน เรียกว่า จมูกข้าว (germ) ซึ่งเหล่านี้จะหายไปเมื่อถูกขัดสีออก ดังนั้นจึงทำให้ธัญพืชเต็มเมล็ดมีฟอสฟอรัสอยู่มากกว่าธัญพืชที่ผ่านการขัดสีนั่นเอง รวมถึงฟอสฟอรัสในธัญพืชเต็มเมล็ดยังถูกเก็บไว้ในรูปของกรดไฟติก (phytic acid) ซึ่งร่างกายจะดูดซึมได้ยาก ดังนั้นแม้ว่าธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรนจะดีต่อสุขภาพหากกินในปริมาณที่พอเหมาะ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว ควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่ามาก โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโอ๊ตค่ะ

 

 

4. ปลาทูน่า

     ปลาทูน่า โดยเฉพาะปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna) 100 กรัม มีฟอสฟอรัสอยู่ 333 มิลลิกรัม หรือ 27% DV (ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณฟอสฟอรัส ทูน่าเป็นอาหารอีกหนึ่งอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงเลยค่ะ แต่สำหรับคนทั่วไป การกินทูน่าในปริมาณที่พอเหมาะนอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสแล้ว ยังได้รับโปรตีน วิตามินดี โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก และสารอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ จากทูน่าอีกด้วย

 

 

5. เนื้อหมู

     เนื้อหมู โดยเฉพาะเนื้อสันใน จะมีฟอสฟอรัสอยู่มากกว่าพอร์คชอปค่ะ แม้ว่าการปรุงสุกจะส่งผลต่อปริมาณฟอสฟอรัส อย่างเช่น การต้มจะทำให้ฟอสฟอรัสลดลงไป 20% ส่วนการ Dry heat หรือ ใช้ความร้อนแห้ง จะยังคงฟอสฟอรัสไว้ถึง 90% ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าเราเป็นผู้ป่วยโรคไตที่ควรจำกัดปริมาณฟอสฟอรัสหรือไม่ด้วยนะคะ

 

 

6. เมล็ดฟักทอง

     เมล็ดฟักทอง 100 กรัม มีฟอสฟอรัส 1,233 มิลลิกรัม หรือ 99% DV (ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) ซึ่งฟอสฟอรัสในเมล็ดพืชจะถูกเก็บไว้ในรูปของ กรดไฟติก (phytic acid) และร่างกายจะย่อยได้ยาก โดยหากแช่เมล็ดไว้ก็จะช่วยให้กรดไฟติกสลาย และฟอสฟอรัสจะถูกปล่อยออกมาเพื่อการดูดซึม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องจำกัดปริมาณฟอสฟอรัส แนะนำให้หลีกเลี่ยงเมล็ดฟักทองจะดีกว่าค่ะ

 

 

7. ควินัว

     ควินัว 100 กรัม มีฟอสฟอรัส 152 มิลลิกรัม หรือ 12% DV (ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน) ซึ่งแม้ว่าควินัวจะดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นแหล่งของไฟเบอร์ โปรตีน แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงยังไม่มีกลูเตน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตแล้ว ควรหลีกเลี่ยงควินัวค่ะ เพราะควินัวมีฟอสฟอรัสสูง โดยเฉพาะการแช่หรือหมักก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มฟอสฟอรัสค่ะ

 

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี