5 สมุนไพรและเครื่องเทศเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ต่อต้านไวรัส
สำหรับพวกเราทุกคน ระบบภูมิคุ้มกันที่ดีถือว่ามีความสำคัญมากพอๆ กับระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เพราะเป็นระบบที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้เข้าไปทำร้ายร่างกายภายใน ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถที่จะอ่อนแอลงได้ หากเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี อย่างการอดนอน ขาดการออกกำลังและการขาดสารอาหารก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
โชคดีที่เราก็ยังมีวิธีในการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้ และวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันนั่นก็คือการ้ลือกรับประทานอาหารนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทสมุนไพรและเครื่องเทศ อาหารกลุ่มนี้ถูกใช้มานานหลายศตวรรษเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค และเป็นหนึ่งในอาหารที่มีสรรพคุณในการส่งเสริมภูมิคุ้มกัน และต่อไปนี้เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของได้ค่ะ
ภูมิคุ้มกันคืออะไร ?
ภูมิคุ้มกัน หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดโรค เช่น แบคทีเรียและไวรัส เนื่องจากเราต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ทุกวัน เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกัน ซึ่งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันคือระบบป้องกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมและปกป้องร่างกาย ภูมิคุ้มกันมีหลายประเภท ได้แก่ ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ภูมิคุ้มกันรับมา และภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะ
1. ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด
ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) คือ การป้องกันทั่วไป เป็นสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ผิวหนัง ขนตามร่างกาย รวมถึงกลไกการป้องกัน เช่น น้ำลาย กรดในกระเพาะ และการตอบสนองของภูมิคุ้มกันทั่วไป อย่างเช่น การอักเสบ ภูมิคุ้มกันประเภทนี้ถือว่าเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันนี้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งแปลกปลอมชนิดใดกำลังบุกรุกร่างกาย แต่ก็สามารถตอบสนองต่อการป้องกันเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว
2. ภูมิคุ้มกันรับมา
ภูมิคุ้มกันรับมา (Passive Immunity) คือ ความสามารถของร่างกายในการต่อต้านเชื้อโรคโดยการได้รับแอนติบอดี ตัวอย่างเช่น แอนติบอดีสามารถถ่ายโอนไปยังทารกจากน้ำนมแม่ หรือผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีแอนติบอดี เช่น การรับวัคซีนต่อต้านเชื้อโรค เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มโรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก รูปแบบทั่วไปของภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะปกป้องร่างกายได้นานระยะเวลาหนึ่ง และทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เฉพาะเจาะจง แม้ว่าภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะมีประโยชน์ แต่ภูมิคุ้มกันรับมาจะเกิดขึ้นชั่วคราวจนกว่าแอนติบอดีจะหมดไปหรือจางลง
3. ภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะ
ภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะ (Acquired (Adaptive) Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่พัฒนาจากความทรงจำทางภูมิคุ้มกันที่ร่างกายเคยสัมผัสกับเชื้อโรคจำเพาะ และพัฒนาเป็นภูมิคุ้มกันจำเพาะขึ้นมา ครั้งต่อไปเมื่อเชื้อโรคบุกรุก ร่างกายจะมีความทรงจำเกี่ยวกับเชื้อโรคนั้นและมีแอนติบอดีที่จะต่อสู้แล้ว ภูมิคุ้มกันชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับการติดเชื้อ ซึ่งบุคคลนั้นเคยได้รับโรคและเกิดการพัฒนาภูมิคุ้มกันตามมา และนอกจากนี้ภูมิคุ้มกันชนิดนี้ยังสามารถเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนนั้นเลียนแบบโรคเฉพาะ ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและไม่ทำให้ป่วย
5 สมุนไพรและเครื่องเทศเพิ่มภูมิคุ้มกัน
1. ขมิ้น
ขมิ้นชัน เป็นเครื่องเทศและสมุนไพรสีเหลืองสดที่มีประวัติการใช้มายาวนานในทางการแพทย์อายุรเวท สารเคอร์คูมินซึ่งเป็นสารประกอบหลักในขมิ้นนั้นมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและในขมิ้นก็ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง สามารถช่วยให้ร่างกายลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ อย่างไรก็ตาม สารประกอบในขมิ้นสามารถดูดซึมได้ดีเมื่อมีไขมัน แนะนำให้รับประทานขิ้นพร้อมอาหาร หรือจะนำไปผสมนม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีเพิ่มขึ้น
2. ขิง
เช่นเดียวกับสมุนไพรและเครื่องเทศหลายชนิด ขิงเป็นวัตถุดิบหลักในยาแผนโบราณสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดหัว หวัด คลื่นไส้ และอาเจียน และจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ethnopharmacology ขิงสดช่วยป้องกันการก่อตัวของคราบจุลินทรีย์จากไวรัสบริเวณทางเดินหายใจและสามารถช่วยลดอาการคล้ายหวัดได้ สารประกอบในขิงอย่างจินเจอร์รอล (Gingerol) และโชโกล (Shogaol) ยังมีคุณสมบัติในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ คุณสมบัติต้านการอักเสบและลดอาการปวดของขิงยังสามารถช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกัน ลดความรุนแรงและลดระยะเวลาของอาการได้
3. อบเชย
อบเชย (Cinnamon) เป็นเครื่องเทศที่มีคุณสมบัติในด้านคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านเชื้อรา ต้านแบคทีเรีย และต้านการอักเสบ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Food & Function พบว่าสาร E-Cinnamaldehyde ซึ่งเป็นหนึ่งในสารประกอบที่ออกฤทธิ์หลักในอบเชย มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบที่มีศักยภาพ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย (Listeria) และแบคทีเรียซาลโมเนลล่า (Salmonella)
4. สะระแหน่
สะระแหน่เป็นสมุนไพรที่มีสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด สารเหล่านี้เป็นสารประกอบจากพืชที่มีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ฟลาโวนอยด์เป็นเหมือนสารที่ช่วยทำความสะอาด ช่วยให้ร่างกายตอบสนอง ปกป้อง และช่วยซ่อมแซมร่างกาย ในสะระแหน่ยังมีเมนทอลซึ่งเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ช่วยระงับความรู้สึกและทำให้ชา ด้วยเหตุนี้ เมนทอลจึงมักถูกเติมในยารักษาอาการไอและเจ็บคอ และสารเมนทอลก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยเปิดและผ่อนคลายทางเดินหายใจบางส่วนได้
5. ปาปริก้า
เครื่องเทศที่เผ็ดร้อนอย่างปาปริก้านี้เต็มไปด้วยสารประกอบที่เป็นประโยชน์ เช่น วิตามินซีและวิตามินเอ โดยเฉพาะวิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระ และยังสามารถช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ในขณะเดียวกันวิตามินเอก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และยังช่วยควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ในปาปริก้าเองก็มีสารแคปไซซิน ซึ่งเป็นสารประกอบที่สามารถบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 5 อาหารสุขภาพ เมนูอาหารไทย ช่วยต้านไวรัส กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค
- 6 อาหารช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทานโรค ไม่ป่วยบ่อย