5 วิธีดูแลนิ้วล็อคแบบง่าย ๆ ทำอย่างไรให้นิ้วกลับมาปกติ
สำหรับบางคนที่มีอาการปวดนิ้ว เหยียดนิ้วแล้วรู้สึกสะดุดหรือมีอาการบวมและแดงร้อนบริเวณนิ้วมือ แบบนี้อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังมีปัญหาเป็นโรคนิ้วล็อค หรือ ข้อนิ้วงอติด (Trigger finger) อยู่ก็ได้ค่ะ
โรคนิ้วล็อคเกิดจากการที่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วมือเกิดการอักเสบและหนาตัวขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาที่เรางอและเหยียดนิ้วจะต้องผ่านปลอกหุ้มเอ็นนี้ค่ะ เมื่อปลอกหุ้มเอ็นอักเสบจึงทำให้การเคลื่อนผ่านเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เคลื่อนไหวสะดุด ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นเยอะอาจจะทำให้งอนิ้วแล้วไม่สามารถเหยียดได้เลย ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยให้เรามีอาการแย่ไปกว่านี้ วันนี้เรามีวิธีดูแลนิ้วล็อคแบบง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ที่บ้านมาฝากกันค่ะ
5 วิธีดูแลนิ้วล็อค
1. พักการใช้งาน
หลาย ๆ คนที่เป็นโรคนิ้วล็อคอาจจะยังใช้งานนิ้วมือของตัวเองหนักอยู่ อย่างเช่นการหิ้วของหนัก ๆ การใช้มือเยอะเกินไป ซึ่งหากเรายังใช้งานอยู่โดยไม่พักก็จะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบได้มากขึ้นค่ะ ดังนั้นอันดับแรกเลยที่ควรทำสำหรับผู้ป่วยโรคนิ้วล็อคนั่นก็คือการหยุดพักและงดใช้นิ้วมือสักระยะค่ะ
2. ประคบเย็นและประคบร้อน
หากเรามีอาการอักเสบหรือเกิดนิ้วล็อคขึ้น โดยอาการนั้นพึ่งเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง ก็แนะนำให้ประคบเย็นก่อนเพื่อลดการอักเสบค่ะ แต่หากเราเป็นมานานแล้ว มีการพักการใช้งานหรือไม่ได้ใช้นิ้วข้างนั้นแล้ว ก็แนะนำให้ประคบร้อนแทนซึ่งก็จะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนบริเวณที่มีการอักเสบได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดการอักเสบและบาดเจ็บได้ค่ะ
3. ใช้เฝือกดามนิ้ว
ในบางคนที่ยังเผลอใช้งานนิ้วมือตนเองอยู่ ก็แนะนำว่าให้ใช้เป็นเฝือกดามนิ้วเลยก็ได้ค่ะ ซึ่งอุปกรณ์นี้ก็จะทำให้เราไม่สามารถงอและเหยียดนิ้วได้ ทำให้เป็นการลดการใช้งานไปในตัวเลย หรืออาจจะใช้เป็นเทปพันบริเวณข้อนิ้วมือที่มีอาการไว้ก็ได้ ก็จะช่วยให้เราใช้งานนิ้วนั้นได้น้อยลงค่ะ
4. ออกกำลังบริเวณนิ้วมือ
การออกกำลังกายยืดเหยียดบริเวณนิ้วที่มีอาการปวดก็จะสามารถช่วยลดอาการได้ค่ะ โดยเราอาจจะใช้วิธีกำและแบมือ การกำลูกบอล หรือใช้วิธียืดเหยียดด้วยการยื่นแขน 1 ข้างไปข้างหน้าให้ตั้งฉากกับหัวไหล่ ใช้มืออีกข้างค่อย ๆ กดฝ่ามือเข้าหาลำตัว ค้างไว้ นับ 1 - 10 ทำแบบนี้ 10 ครั้ง 3 เซตค่ะ
5. การกดจุด
การกดจุดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยคลายอาการนิ้วล็อคได้ค่ะ โดยวิธีการกดจุดก็มีหลายแบบ สามารถดูได้ตามนี้เลย >> 4 วิธีกดจุดแก้นิ้วล็อค แก้ได้ง่ายๆ ปลอดภัย ไม่เป็นออฟฟิศซินโดรม <<
บทความที่คุณอาจสนใจ
- เทคนิคการกดจุดฝ่ามือ ถนอมมือให้เนียนนุ่มอย่างสุขภาพดี
- 3 วิธีจับเม้าส์แบบถูกต้อง + 5 ท่าบริหารข้อมือ ลดอาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บ!