รู้ทัน "โรคใหลตาย" คืออะไร สาเหตุและการป้องกันการนอนหลับแล้วเสียชีวิต
โรคใหลตาย ภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราไม่รู้ตัว! จากกรณีของ 'บีม ปภังกร' พระเอกจากซีรีส์ 'เคว้ง' เสียชีวิต จากการนอนหลับแล้วไม่ตื่น หรือเกิดภาวะใหลตายนั้น วันนี้เราจึงขอหยิบความรู้เกี่ยวกับโรคใหลตาย มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จัก รู้เท่าทัน และป้องกันการเกิดโรคนี้กัน แน่นอนว่าหากเรารู้สาเหตุและการป้องกันแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
โรคใหลตายคืออะไร นอนหลับแล้วเสียชีวิตได้จริงหรือ?
โรคใหลตาย หรือที่ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยภาวะนี้จะอยู่ใน “กลุ่มอาการบรูกาดา” (Brugada Syndrome) ซึ่งเกิดขึ้นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือคล้ายกับการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจไม่มีการบีบตัวอย่างกะทันหัน ทำให้หัวใจเปรียบเสมือนหยุดเต้นและเกิดการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการหมดสติและทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว
สาเหตุของการเกิดภาวะใหลตาย นอนหลับแล้วเสียชีวิต
ภาวะใหลตายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีปัจจัยเสี่ยงจากหลากหลายพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น
- เกิดจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ
- เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นการสืบทอดมาจากพันธุกรรมในครอบครัว
- เกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดโพแทสเซียม โดยโพแทสเซียมนั้นเป็นสารที่สำคัญที่จะทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ ซึ่งเมื่อร่างกายมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว และภาวะแทรกซ้อนของหัวใจได้
- อาการนอนกรนชนิดรุนแรง ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับบ่อยๆ ก็นำไปสู่ภาวะใหลตายได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ จะส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น อาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
- การบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งการบริโภคอาหารที่มีสารพิษสะสมในปริมาณเล็กน้อยทุกวัน ก็อาจก่อให้เกิดการเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้
อาการของภาวะใหลตาย
โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะใหลตายมักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักจะไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติ แต่สำหรับอาการที่บ่งบอกถึงภาวะเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคใหลตาย มีอาการดังนี้
- มีอาการชาตามร่างกาย หรือส่วนเดียวของร่างกาย
- แขน หรือขา และร่างกายอ่อนแรง
- สูญเสียการทรงตัวอย่างฉับพลัน
- ใบหน้าและริมฝีปากเขียวคล้ำ
- สูญเสียการมองเห็น มองเห็นภาพพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการควบคุมของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ
- หายใจไม่ออก เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก
- หมดสติ
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะใหลตาย
โรคใหลตายในประเทศไทยเกิดขึ้นได้บ่อย โดยมักจะพบมากในคนอายุ 30-50 ปี และประเทศไทยมักจะพบบ่อยในแถบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้งนี้กลุ่มคนที่เคยมีประวัติหัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการหายใจผิดปกติ หรือนอนกรนชนิดรุนแรง ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะใหลตายได้มากขึ้น
วิธีป้องกันภาวะใหลตาย
วิธีรักษาภาวะใหลตายนั้นอาจไม่สามารถทำได้ทันท่วงที แต่ทุกคนสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในเกิดภาวะใหลตายได้โดย
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนักมากเกินไป และความเครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน กินอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกายโดยเฉพาะโพแทสเซียม และวิตามินบี
- กินอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดเป็นประจำ
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของร่างกายและหัวใจแบบพอประมาณ ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนหัวใจทำงานหนักจนเกินไป
- หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ ควรรีบพบแพทย์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่เสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก :