8 เคล็ดลับ ลดความเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม นั่งน้อยลง เคลื่อนไหวมากขึ้น
ในปัจจุบันเราใช้ชีวิตแบบอยู่กับที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ค่อยได้ขยับไปไหน หรือบางคนที่มีนิสัยชอบนั่งอยู่กับที่ นั่งเล่นมือถือ นั่งดูโทรทัศน์นาน ๆ นั่งเล่นคอมนาน ๆ ทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้ง่าย การนั่งเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และแม้กระทั่งโรคออฟฟิศซินโดรมที่คนวัยทำงานหลายคนกำลังเป็นอยู่ตอนนี้
การเพิ่มการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวันไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่ทำได้ ซึ่งก็จะทำให้สุขภาพโดยรวมของคุณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็มีความสำคัญ และเมื่อเวลาผ่านไป การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่คุณทำได้ประจำวัน และต่อไปนี้คือเคล็ดลับลดควมเสี่ยงออฟฟิศซินโดรมที่จะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
8 เคล็ดลับ ลดความเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
1. ตั้งเวลาเตือน
ใช้ตัวจับเวลาหรือนาฬิกาเพื่อเตือนให้คุณลุกขึ้นและเคลื่อนไหวทุก ๆ 30-60 นาที โดยการขยับตัวติดต่อกัน 2-3 นาทีก็สามารถช่วยลดปปัญหาการนั่งนานและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้
2. ขึ้นบันได
เลือกใช้บันไดแทนลิฟต์หรือบันไดเลื่อนเท่าที่จะทำได้ กิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้สามารถช่วยเพิ่มการใช้กล้ามเนื้อและเป็นการเพิ่มกิจกรรมทางกายได้
3. ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ
เพิ่มการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเข้าไปในกิจวัตรประจำวันของคุณ การยืดเหยียดไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาความเมื่อยล้าจากการนั่งเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและการไหลเวียนของโลหิตได้อีกด้วย
4. เดินหรือปั่นจักรยานในทริปสั้นๆ
หากเดินทางในระยะทางสั้น ๆ คุณอาจเลือกวิธีการเดินหรือปั่นจักรยานแทนการขับรถ นอกจากจะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้คล่องตัวมากขึ้นแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
5. ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
หากคุณต้องเดินทางไกล ลองใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินไปและกลับจากป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟฟ้าอาจจะช่วยเพิ่มจำนวนก้าวในแต่ละวันได้
6. เลือกงานอดิเรกที่ต้องเคลื่อนไหว
เลือกงานอดิเรกที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ทำสวน เต้นรำ เดินป่า หรือเล่นกีฬา กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะเป็นงานอดิเรกที่มีประโยชน์แล้ว ยังช่วยให้เราได้มีโอกาสใช้แรงและออกกำลังกายมากขึ้นได้
7. ยืนหรือเคลื่อนไหวขณะดูทีวี
แทนที่จะนั่งเล่นนอนเล่นบนโซฟาขณะดูทีวี ลองยืนออกกำลังกายแบบเบา ๆ หรือออกกำลังไปด้วย นอกจากนี้การเพิ่มการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวันก็ช่วยได้ เช่น ยกขาสลับไปมาขณะแปรงฟันหรือเดินไปมาขณะคุยโทรศัพท์
8. เดินเล่นหลังอาหาร
ออกไปเดินหลังรับประทานอาหารให้เป็นนิสัย วิธีนี้จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นและยังป้องกันอาการง่วงนอนที่มักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารจนอิ่ม
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 6 ท่าโยคะ แก้ปวดหลัง หนีออฟฟิศซินโดรมแถมช่วยปรับบุคลิก
- 6 ท่ายืดตัว สำหรับคนปวดเมื่อยและเป็นออฟฟิศซินโดรม