6 วิธีเยียวยาแผลในกระเพาะอาหารให้ดีขึ้น แผลหาย ไม่ปวดท้อง
กระเพาะอาหารถือเป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินอาหารของเรา เมื่อกระเพาะอาหารของเรามีอาการอักเสบหรือว่ามีแผลในกระเพาะอาหารก็จะทำให้เรานั้นมีอาการปวดท้องขึ้นมาได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วก็ต้องบอกเลยว่าจะทรมานมาก ๆ เพราะจะมีอาการปวดท้องมากและปวดแทบจะตลอดเวลา หิวก็ปวด ทานอาหารลงไปก็ปวด ซึ่งบางคนพยายามรักษาแล้วก็ยังไม่หายสักทีและกลายเป็นแผลเรื้อรังทำให้ทรมาน ดังนั้นวันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 6 วิธีที่จะช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารให้ดีขึ้นจนถึงขั้นหายขาดได้เลย ซึ่งทั้ง 6 วิธี มีดังนี้ค่ะ
6 วิธีรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร น้ำย่อยภายในกระเพาะของเราก็จะหลั่งออกมา แต่ถ้าไม่มีอาหารลงไปน้ำย่อยก็จะกัดเนื้อกระเพาะของเรา ทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง นานวันเข้าก็จะทำให้เกิดแผลขึ้นมานั่นเอง ดังนั้นแนะนำว่าใครที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาให้เปลี่ยนพฤติกรรม ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 3 มื้อ
2. งดอาหารเผ็ดจัดและเปรี้ยวจัด
เพราะว่าอาหารที่เผ็ดจัดหรือว่าอาหารที่เปรี้ยวจัดจะเพิ่มกรดในกระเพาะ หากกระเพาะของเรามีกรดมากขึ้นก็จะทำให้แผลของเราไม่หายและอาจทำให้เกิดแผลมากขึ้นด้วย แนะนำว่าให้เราหลีกเลี่ยงอาหารที่เผ็ดมาก ๆ เปรี้ยวมาก ๆ พยายามรับประทานอาหารเหล่านี้ให้น้อยลงก็จะช่วยบรรเทาอาการแผลในกระเพาะอาหารได้ค่ะ
3. งดดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ บางคนเป็นแผลในกระเพาะอาหารอยู่แล้วแต่ก็ยังดื่มแอลกอฮอล์เรื่อย ๆ จนทำให้เป็นแผลเรื้อรัง กระเพาะทะลุได้เลยทีเดียว ดังนั้นใครที่กำลังเป็นแผลในกระเพาะอาหารอยู่หรือว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบให้หลีกเลี่ยงพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs
ไม่ว่าจะเป็น แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), นาพร็อกเซน (naproxen), ไพร็อกซิแคม (piroxicam) รวมถึงพอน-สแตน (Ponstan) ยาเหล่านี้สามารถทำให้กระเพาะของเราระคายเคืองและอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นแนะนำว่าถ้าเรามีอาการปวดที่ไม่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดหลัง ปวดเข่าที่ไม่รุนแรง แนะนำว่าให้รับประทานเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอลก่อน แต่ถ้าใครมีอาการปวดรุนแรงทานยาพาราไม่หายแนะนำว่าให้พบแพทย์ เพราะว่าการรับประทานยาในกลุ่ม NSAIDs มากเกินไปหรือว่าติดต่อกันในระยะเวลานาน ก็อาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและนอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิดโรคไตเสื่อมได้
5. รับประทานอาหารที่สะอาด
หลีกเลี่ยงของสุก ๆ ดิบ ๆ และอาหารที่ไม่สะอาด เพราะอาหารไม่สุกและไม่สะอาดก็อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่าซัลโมเนลลา (salmonella) ซึ่งเมื่อเราติดเชื้อแบคทีเรียตัวนี้แล้วก็จะทำให้กระเพาะของเราเป็นแผล กระเพาะอาหารทะลุรวมถึงมีเลือดออกในกระเพาะได้ค่ะ ดังนั้นแนะนำว่าให้เรารับประทานอาหารที่สุกและสะอาด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารค่ะ
6. รับประทานยาลดกรด
ยาลดกรดเป็นยาที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารอักเสบโดยตรง ซึ่งหลายคนก็ละเลยยาตัวนี้ไป เวลาไปพบคุณหมอแล้วคุณหมอจ่ายยาลดกรดมาให้ บางคนก็อาจจะทานยาไปแค่วันสองวันพออาการดีขึ้นแล้วหยุดยา ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็จะทำให้เรากลับมาปวดท้องอีก แนะนำว่าให้รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งให้ครบโดยเฉพาะยาลดกรดค่ะ โดยปกติแล้วยาลดกรดที่คุณหมอจ่ายมาให้ อย่างน้อยก็จะให้ทานติดต่อกันได้ประมาณ 2 - 8 สัปดาห์เลยทีเดียว ดังนั้นแนะนำว่าให้รับประทานให้ครบ ก็จะทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายได้ค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ