6 วิธีแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการแน่นท้องให้ดีขึ้น
อาการ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ เป็นอาการที่หลาย ๆ คนเคยเจอและบางคนก็เป็นอยู่บ่อย ๆ ค่ะ เมื่อรับประทานไปแล้วสักพักก็จะมีอาการเหล่านี้ตามมา บางคนก็จะรู้สึกอึดอัดแน่นท้องหรือบางคนก็อาจจะมีอาการพะอืดพะอม อยากจะอาเจียนออกมาเพราะว่าอาหารไม่ย่อย
แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว และหากเราปล่อยให้ท้องอืดบ่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดทรมาน ซึ่งวันนี้เราก็มี 6 วิธีแก้ท้องอืด แก้อาหารไม่ย่อย มาให้ได้ลองเอาไปทำตามกัน จะได้ไม่ต้องรู้สึกอัดอึดหลังรับประทานอาหารอาหารค่ะ
สาเหตุของอาการท้องอืด
มีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ทำให้เรามีอาการท้องอืดได้ ซึ่งอาการท้องอืดอาจเกิดจากภาวะสุขภาพบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด
1. กลืนอากาศ
เป็นเรื่องปกติที่เราจะกลืนอากาศเข้าไปบางส่วนขณะหายใจและรับประทานอาหาร การกลืนอากาศนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในขณะที่เรากินอาหารหรือทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ การมีฟันปลอมที่เริ่มหลวม การเคี้ยวอาหารเร็วเกินปและเคี้ยวไม่ละเอียด รวมถึงการกลืนอาหารชิ้นใหญ่ก็ทำให้เราเผลอกลืนอากาศเข้าไปได้ การดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ และดื่มน้ำอัดลม ซึ่งทำให้เรามีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เราเรอมากกว่า แต่ในบางครั้งก็ท้องอืดได้เช่นกัน
2. อาหารและเครื่องดื่ม
คาร์โบไฮเดรตบางชนิดในอาหารไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้โดยลำไส้ อาหารเหล่านี้จะผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ของเราและจะถูกย่อยโดยแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดก๊าซ และสุดท้ายก็จะกลายเป็นอาการท้องอืดในที่สุดค่ะ ซึ่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถดูดซึมได้ เช่น ถั่ว บร็อคโคลี กะหล่ำปลี อาร์ติโช้ค ลูกเกด หัวหอม ลูกพรุน แอปเปิ้ล กะหล่ำดาว รวมถึงอาหารที่มีเส้นใยที่ไม่ผ่านการขัดสีจำนวนมากก็อาจทำให้เกิดปัญหามีลมและท้องอืดได้
อาหารอย่างกะหล่ำปลีและหัวหอม สามารถนำไปสู่การเกิดก๊าซที่มีกำมะถัน ส่งผลให้ลมมีกลิ่นเหม็น ไม่ว่าจะเป็นการเรอหรือผายลม นอกจากนี้อาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีสารให้ความหวานที่เรียกว่าซอร์บิทอล เช่น หมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล เครื่องดื่มน้ำตาล 0% หรือน้ำตาลประเภทฟรุกโตสที่มีมากในน้ำผลไม้ ก็สามารถทำให้ท้องอืดได้
3. ภาวะสุขภาพ
ภาวะสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ เช่น ภาวะอาหารไม่ย่อย ท้องผูก การเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) โรคแพ้กลูเตน แพ้แลคโตส โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ แม้แต่การติดเชื้อในระบบย่อยอาหารก็ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
4. ยา
อาการท้องอืด มักมีอาการอาหารไม่ย่อยเป็นผลข้างเคียง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากการกินยาบางประเภท เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen ยาระบายบางชนิด ยาต้านเชื้อรา ยาช่วยเลิกบุหรี่
6 วิธีแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
1. รับประทานให้ช้าลง
คนที่ทำงานประจำหลายคนมีเวลาพักเบรคแค่แป๊บเดียว กว่าจะต่อแถวซื้ออาหารได้ก็เหลือเวลาพักไม่นาน ยิ่งทุกคนลงมาพร้อมกันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องรีบรับประทานอาหาร ซึ่งการที่ต้องรีบแบบนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามีอาการท้องอืดและอาหารไม่ย่อยได้ค่ะ วิธีการแก้ก็คือให้พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียดรวมถึงลดการพูดคุยขณะรับประทานอาหารก็จะช่วยให้อาการท้องอืดของเราลดลงได้ค่ะ
2. ลดเครื่องดื่มที่มีแก๊ส
บางคนชอบดื่มเครื่องดื่มอัดลมรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งเครื่องดื่มพวกนี้ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดและอาหารไม่ย่อยได้ค่ะ ดังนั้นการลดเครื่องดื่มประเภทนี้ลงบ้างก็จะช่วยให้ท้องของเราสบายมากขึ้นค่ะ
3. ลดการรับประทานอาหารย่อยยาก
การรับประทานอาหารย่อยยากเป็นประจำ สามารถทำให้เราเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ค่ะ อย่างเช่นพวกอาหารทอด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ อาหารเหล่านี้ร่างกายค่อนข้างจะย่อยได้ยากและเมื่อย่อยแล้วก็อาจจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ หรือแม้แต่ข้าวกล้องและผักสดก็สามารถทำให้เราท้องอืดได้ค่ะ โดยเกิดจากการที่อาหารเหล่านี้มีกากใยสูง ซึ่งหากรับประทานมากไปก็จะอืดในท้องได้
4. เคลื่อนไหวร่างกาย
หลังจากที่เรารับประทานอาหารเข้าไปแล้ว หากเราพอจะมีเวลาก็ให้เคลื่อนไหวร่างกายสักหน่อยก็จะดีค่ะ โดยเราอาจจะออกไปเดินเล่น ขยับบิดตัวสัก 10 - 15 นาที จะทำให้ช่วยกำจัดแก๊สที่อยู่ในลำไส้และกระเพาะอาหารออกไปได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เรารู้สึกอึดอัดน้อยลง อาการท้องอืดท้องเฟ้อก็จะดีขึ้นได้ค่ะ
5. รับประทานพวกสมุนไพร
สมุนไพรจำพวกขิง ขมิ้น กระเทียม กะเพรา พริกไทย สะระแหน่ ยี่หร่า พวกนี้จัดเป็นสมุนไพรที่ช่วยขับลม โดยเราสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือจะเลือกดื่มแบบเป็นน้ำชา เช่น ชาคาโมมายล์หรือน้ำขิงแบบนี้ก็ได้ค่ะ
6. ดื่มน้ำให้มากขึ้น
การดื่มน้ำน้อยก็ทำให้เราท้องอืดและอาหารไม่ย่อยได้ค่ะ เนื่องจากน้ำสะอาดนั้นมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้ระบบย่อยอาหารของเราดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำขณะรับประทานอาหารก็อาจทำให้ท้องอืดได้ค่ะ ดังนั้นแนะนำว่าในช่วงระหว่างวันให้เราดื่มน้ำให้พอกับที่ร่างกายต้องการ ส่วนในตอนที่รับประทานอาหารก็แนะนำให้จิบน้ำแทน อย่าดื่มมากเกินไปค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 5 ผลไม้ช่วยย่อย แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แถมขับถ่ายคล่อง
- 6 อาหารช่วยขับลมในท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดแก๊สในกระเพาะอาหาร