7 วิธีดูแลสุขภาพจิต ทำไงให้มีสุขภาพจิตดี มีความสุข ผ่อนคลาย หายเครียด
สุขภาวะทางจิต คือสภาวะที่บุคคลรู้สึกดีต่อตนเองและสามารถรับมือกับแรงกดดันในชีวิตประจำวันได้ดี การมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญไปถึงคุณภาพชีวิตดด้วยเพราะสามารถส่งผลต่อวิธีคิด ทัศนคติ ความรู้สึก และพฤติกรรมของเรา นอกจากนี้ยังช่วยในการจัดการกับความเครียด ความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงการตัดสินใจในการทำบางสิ่งบางอย่าง
มีหลายสาเหตุที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตให้ทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ พฤติกรรมส่วนบุคคลและการเลือกใช้ชีวิต นอกจากนี้พันธุกรรมก็มีส่วน มีหลายขั้นตอนที่เราสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงสุขภาพจิตให้ดีขึ้น โดยวิธีดูแลสุขภาพจิตแบบง่าย ๆ ที่ทำแล้วจะมีสุขภาพจิตดี มีดังนี้
7 วิธีดูแลสุขภาพจิต ทำไงให้มีสุขภาพจิตดี
1. มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ซึ่งสื่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี ลองหาเวลาให้กับเพื่อน ครอบครัว คนที่คุณรัก และสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้การช่วยเหลือผู้อื่นก็สามารถทำให้เรารู้สึกดีและทำให้ชีวิตของเรามีความหมายได้
2. นอนหลับให้เพียงพอ
โดยปกติในวัยผู้ใหญ่จะต้องการการนอนหลับประมาณ 7 - 8 ชั่วโมงต่อคืน และเมื่อเราพักผ่อนอย่างเพียงพอ เราก็จะสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น รวมถึงยังสามารถตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น
3. ทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่ออารมณ์และระดับพลังงาน รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมด้วย ดังนั้นอย่าลืมกินผักและผลไม้ ถั่วและเมล็ดธัญพืชให้มาก และพยายามลดอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีในการช่วยผ่อนคลายความเครียด พัฒนาระดับอารมณ์ และช่วยบำรุงสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้นได้ ลองตั้งเป้าออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อย 30 นาที 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ก็จะช่วยให้สุขภาพโดยรวมและสุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้
5. ผ่อนคลายความเครียด
ลองหาวิธีผ่อนคลายความเครียดไม่ว่าจะเป็นโยคะ การทำสมาธิ การหายใจเข้าออกลึก ๆ จะสามารถช่วยลดความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ นอกจากนี้การอยู่กับธรรมชาติในบางครั้ง ก็สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายและลดความเครียดลงได้ด้วยเช่นกัน
6. หลีกเลี่ยงการพูดถึงตัวเองในแง่ลบ
การพูดเชิงลบกับตัวเอง การตำหนิหรือก่นด่าตนเองนั้นสามารถนำไปสู่ความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล และส่งผลให้เกิดความนับถือในตนเองต่ำ ดังนั้นก่อนที่จะตำหนิตนเองจนกลายเป็นนิสัย ลองหันมาใจดีต่อตัวเองและพยายามโฟกัสไปที่จุดแข็งของเราจะดีกว่า
7. รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณมีปัญหาสุขภาพจิต คุณควรเข้ารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะมีอีกหลายวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และผู้เชี่ยวชาญยังสามารถวางแผนการรักษาให้เหมาะกับคุณได้
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมรับส่วนลด ผ่านแอปพลิเคชัน MorDee
บทความที่คุณอาจสนใจ
- รู้จัก โรคซึมเศร้า 8 แบบ อาการเข้าข่าย ควรปรึกษาจิตแพทย์
- 4 วิธี เติมพลังบวกให้ชีวิต สุขภาพจิตดี ลดความเครียด