3 ประเภทและสาเหตุของอาการปวดหลัง สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
อาการปวดหลังเป็นปัญหาทางสุขภาพที่มักพบได้บ่อย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่ปวดตลอดเวลา ไปจนถึงปวดแบบเฉียบพลัน บางครั้งการปวดหลังอาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม การยกของหนัก แต่ในบางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามวัยก็เป็นได้ ในบางกรณีความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย การอักเสบหรือแม้แต่การนั่งทำงานท่าเดิมในเวลานาน ๆ ก็ทำให้เรามีภาวะออฟฟิศซินโดรม ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน
การรักษาอาการปวดหลังจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและอาการ อย่างไรก็ตาม ก็มีขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้ เพื่อทำให้อาการปวดหลังดีขึ้นและลดโอกาสเกิดอาการปวดหลังเรื้อรังหรือเป็นระยะยาว
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
ทุกคนสามารถมีอาการปวดหลังได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการปวดหลังได้
1. ร่างกายไม่แข็งแรง
อาการปวดหลังสามารถพบได้บ่อยขึ้นในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง โดยเฉพาะคนที่มีกล้ามเนื้อหลังและท้องที่อ่อนแอ ไม่อาจรองรับกระดูกสันหลังได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามอาการปวดหลังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในคนที่ออกกำลังกายหนักเกินไป หรือคนที่ห่างจากการออกกำลังมาระยะหนึ่ง
2. น้ำหนักเพิ่ม
การรับประทานอาหารที่มีแคลอรีและไขมันสูง บวกกับการใช้ชีวิตที่ไม่ออกกำลังกาย อาจนำไปสู่โรคอ้วนได้ และสาเหตุนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
3. ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับงาน
งานที่ต้องออกแรงยก ดัน ดึง หรือบิดของหนัก อาจทำให้หลังบาดเจ็บได้ อย่างไรก็ตามงานนั่งโต๊ะก็อาจมีส่วนที่ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน หากคุณมีท่าทางที่ไม่ดีหรือนั่งทั้งวันบนเก้าอี้ที่ไม่สบาย
4. อายุ
อาการปวดหลังจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีอายุมาก โดยอาจจะเริ่มปวดหลังได้ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป
5. กรรมพันธุ์
พันธุกรรม ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เช่นในผู้ที่มีความผิดปกติบางอย่างก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง
3 ประเภทอาการปวดหลัง
หากคุณกำลังมีอาการปวดหลัง อย่างแรกเลยคือการสังเกตว่ามีอาการมานานแค่ไหน และปวดในลักษณะอย่างไร เพราะข้อมูลนี้สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยปัญหาได้
1. อาการปวดเฉียบพลัน
อาการปวดเฉียบพลันหรือปวดในระยะสั้น ๆ ตั้งแต่ 1 วันจนถึง 4 สัปดาห์ โดยทั่วไปอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันนั้นอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบางอย่างเช่น การยกของหนัก การล้ม หรือการก้มตัวผิดท่าขณะทำงานบ้านหรือทำงานต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการปวดเฉียบพลันจะหายได้เองเมื่อกล้ามเนื้อหายอักเสบหรืออาการบวมลดลง อย่างไรก็ตามหากอาการปวดหลังมีความมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน คุณก็ควรไปพบแพทย์
2. อาการปวดกึ่งเฉียบพลัน
อาการปวดหลังแบบกึ่งเฉียบพลันจะมีอาการได้ตั้งแต่ 4 - 12 สัปดาห์ ซึ่งหากคุณมีปัญหา แนะนำให้พบแพทย์เบื้องต้นเพื่อดูว่าอาการปวดจะหายไปเองหรือมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังหรือไม่
3. อาการปวดเรื้อรัง
อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นอาการปวดที่กินเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งในบางกรณีอาการปวดนี้จะรุนแรงเพิ่มขึ้น และในบางครั้งอาจเป็นอาการปวดตื้อ ๆ ตลอดเวลาหรือมีอาการปวดเป็นชุด ๆ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาการปวดเรื้อรังอาจทำให้ร่างกายทรุดโทรมและส่งผลเสียต่อจิตใจได้
การป้องกันอาการปวดหลัง
การหมั่นบำรุงร่างกายและการใช้ร่างกายด้วยความระมัดระวังอาจช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้
- ออกกำลังกาย
การออกกำลังแบบแอโรบิก หรือการออกกำลังแบบที่มีแรงกระแทกต่ำเป็นประจำ สามารถเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของหลัง รวมถึงยังสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงการทำกิจกรรมอย่างการเดิน ปั่นจักรยานและว่ายน้ำ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลัง เป็นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ซึ่งสามารถทำให้เกิดการรองรับหลังได้ดีมากขึ้น การรักษากล้ามเนื้อบริเวณนี้ให้แข็งแรง ก็จะสามารถทำให้อาการปวดหลังลดลงได้
- ใช้ร่างกายอย่างเหมาะสม
เมื่อต้องยืนเป็นเวลานาน ให้ยืนด้วยการลงน้ำหนักที่เท้าทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นการถ่ายเทน้ำหนักบางส่วนจากหลังส่วนล่าง และสามารถลดความเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณหลังได้ เช่นเดียวกับการนั่ง พยายามเลือกที่นั่งที่มีการรองรับหลังส่วนล่าง มีที่วางแขนและฐานหมุนได้ดี คุณอาจวางหมอนหรือผ้าขนหนูม้วนไว้ที่หลัง เพื่อช่วยคงความโค้งตามปกติของกระดูกสันหลัง รวมถึงพยายามเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง
- เลิกสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างได้ ซึ่งความเสี่ยงนี้ก็จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นตามปริมาณบุหรี่ที่สูบต่อวัน หมายความว่ายิ่งสูบบุหรี่มากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดหลังมากขึ้น ดังนั้นการเลิกบุหรี่จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ปวดหลัง เป็นอะไรได้บ้าง ... สัญญาณบอก (หลาย) โรคที่ไม่ควรมองข้าม !!
- 4 ท่าโยคะ แก้ปวดหลัง ปวดคอ ช่วง Work From Home นั่งทำงานท่าเดิมนานๆ