รีเซต

10 อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ทำให้ท้องอืด ผายลม อึดอัดแน่นท้อง

10 อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ทำให้ท้องอืด ผายลม อึดอัดแน่นท้อง
BeauMonde
17 สิงหาคม 2565 ( 16:32 )
19.9K

     ไม่ว่าเราจะดูแลสุขภาพมากแค่ไหนก็ตาม แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในบางครั้งเราก็มีอาการท้องอืดจนอยากจะเรอและผายลมออกมาได้ค่ะ การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถทำให้เรามีอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ ซึ่งอาการท้องอืดแบบนี้มักจะเกิดจากการที่ร่างกายย่อยอาหารบางอย่าง และอาหารเหล่านั้นก็ก่อให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหารของเราค่ะ 

     ผลที่ตามมาคือเรามักจะเรอ ท้องป่อง ท้องอืดและในบางครั้งก็ผายลม คนที่มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ๆ ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัว อย่างไรก็ตามหากเรามีแก๊สในกระเพาะอาหารมากและรู้สึกท้องอืดได้ง่าย การลดการบริโภคอาหารบางชนิดก็สามารถช่วยได้ ซึ่งลิสต์ต่อไปนี้เป็นประเภทของอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สได้และเราควรหลีกเลี่ยงค่ะ

 

 

10 อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด

 

1. ถั่ว

 

 

     อาหารแรก ๆ ที่เรานึกถึงนั่นก็คือถั่วค่ะ ถั่วมักจะอยู่ในรายการอาหารลำดับต้น ๆ ในการทำให้เราผายลมได้ ซึ่งถั่วหลายชนิดมักมีน้ำตาลราฟฟิโนสเป็นจำนวนมาก น้ำตาลชนิดนี้เป็นน้ำตาลเชิงซ้อน ที่มักทำให้ร่างกายมีปัญหาในการย่อย เมื่อน้ำตาลราฟฟิโนสผ่านเข้าไปสู่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ก็จะไปทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย ทำให้เกิดไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซทั้งหมดนี้จะถูกขับออกทางทวารหนักและทำให้เราผายลมนั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดแก๊สในระบบย่อยอาหาร เราอาจจะต้องลดการบริโภคถั่วออกไปบ้างค่ะ

 

2. ผลิตภัณฑ์จากนม

 

 

     แลคโตสเป็นน้ำตาลที่พบได้ในนมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งรวมไปถึงชีส โยเกิร์ตและไอศกรีม สำหรับผู้ที่ร่างกายผลิตเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพอจะมีปัญหาในการย่อยแลคโตสและทำให้เรามีภาวะแพ้แลคโตสค่ะ ซึ่งอาการแพ้แลคโตสนี้สามารถทำให้ร่างกายเกิดแก๊สเพิ่มมากขึ้นได้ หากเรามีภาวะนี้ให้หลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคผลิตภัณฑ์นม แล้วหันไปทดแทนด้วยนมจากพืช เช่น นมอัลมอนด์หรือผลิตภัณฑ์จากนมถั่วเหลืองแทนค่ะ

 

3. ธัญพืชเต็มเมล็ด

 

 

     ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวสาลีและข้าวโอ๊ต อาหารเหล่านี้มีทั้งเส้นใย น้ำตาลราฟฟิโนสและแป้ง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้สามารถทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่และนำไปสู่การเกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ แต่อย่างไรก็ตามข้าวกล้องรวมถึงข้าวไม่ขัดสีอื่น ๆ ถือเป็นธัญพืชชนิดเดียวที่ไม่ก่อให้เกิดแก๊สค่ะ

 

4. ผัก

 

 

     ผักบางชนิด เช่น กะหล่ำดาว บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง และกะหล่ำดอก เป็นผักที่สามารถทำให้เกิดแก๊สเกินในกระเพาะอาหารได้ เพราะผักเหล่านี้มีน้ำตาลเชิงซ้อนราฟฟิโนสเช่นเดียวกันกับถั่วค่ะ อย่างไรก็ตาม ผักถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ดังนั้นการที่จะงดการกินไปเลยอาจทำให้เราขาดสารอาหารบางอย่างได้ แนะนำให้ลดการบริโภคลงมานิดหน่อยจะดีกว่าค่ะ

 

5. น้ำอัดลม

 

 

     น้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทโซดาอื่น ๆ สามารถเพิ่มปริมาณของแก๊สในระบบทางเดินอาหารของเราได้ เครื่องดื่มเหล่านี้มักทำให้เกิดการเรอและในบางครั้งก็ทำให้เราท้องอืดได้ด้วย เนื่องจากในน้ำเหล่านี้มีกรดคาร์บอนิก เมื่อกรดชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายก็จะกลายเป็นแก๊สสะสมอยู่ในกระเพาะอาหาร เมื่อแก๊สไหลย้อนกลับขึ้นมาทางปาก จึงทำให้เรามีอาการเรอออกมาในที่สุด 

 

6. ผลไม้

 

 

     ผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิ้ล ลูกพีช ลูกแพร์ รวมถึงลูกพรุน มีน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) ตามธรรมชาติ ซึ่งร่างกายมักจะมีปัญหาในการย่อยน้ำตาลชนิดนี้ค่ะ ผลไม้หลายชนิดยังมีเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นเส้นใยที่เมื่อผ่านลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียจะย่อยสลายและเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน

 

7. ลูกอม

 

 

     เช่นเดียวกับน้ำอัดลม การรับประทานลูกอมก็อาจทำให้เรากลืนอากาศเข้าไปได้เช่นกัน รวมถึงลูกอมหลายชนิดยังใช้สารทดแทนความหวานซอร์บิทอลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 อย่างนี้ สามารถนำไปสู่การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้

 

8. หัวหอม

 

 

     ในหัวหอมนั้นมีน้ำตาลธรรมชาติที่เรียกว่าฟรุกโตสอยู่ค่ะ และฟรุกโตสก็ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับน้ำตาลราฟฟิโนสและซอร์บิทอล การรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสสามารถก่อให้เกิดแก๊สได้ โดยการเข้าไปทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้

 

9. หมากฝรั่ง

 

 

     หมากฝรั่งที่ดูเป็นขนมเคี้ยวเล่นธรรมดา ๆ แต่กลับกลายเป็นแหล่งอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ค่ะ เพราะการเคี้ยวจะทำให้เรากลืนอากาศเข้าไปได้มากขึ้น หมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาลบางชนิดก็ใส่สารทดแทนความหวานที่ทำให้ร่างกายย่อยได้ยาก เช่น ซอร์บิทอล แมนนิทอลและไซลิทอล หากเราเคี้ยวหมากฝรั่งแล้วมีอาการเรอบ่อย ๆ ก็แนะนำให้หยุดการกินอาหารชนิดนี้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดแก๊สที่เกิดขึ้นในร่างกายค่ะ

 

10. อาหารแปรรูป

 

 

     อาหารแปรรูปไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์แปรรูป ขนมขบเคี้ยว ซีเรียล หรือแม้แต่น้ำสลัด อาหารแปรรูปบางชนิดก็มีส่วนผสมที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงการเติมสารต่าง ๆ เพื่อปรุงแต่งรสชาติอย่างฟรุกโตส แลคโตสและโซเดียม ซึ่งการที่มีสารปรุงแต่งเหล่านี้อยู่เยอะก็สามารถนำไปสู่การเกิดแก๊สที่กระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นได้

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี