6 อาหารช่วยลดอาการโรควิตกกังวล ช่วยปรับอารมณ์ ลดความเครียด
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการรับประทานอาหารนั้นมีความเกี่ยวข้องกับพลังงานที่ใช้ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่การนอนหลับก็ล้วนได้รับพลังงานมาจากการรับประทานอาหารทั้งนั้น แต่นอกจากนี้การรับประทานอาหารยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของเราด้วยเช่นกัน เพราะอาหารบางชนิดสามารถส่งผลต่อสภาวะสุขภาพจิตได้โดยตรง อย่างเช่นอาหารบางชนิดก็สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลหรือสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมีอาการมากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นอาหารที่ผ่านการแปรรูปและอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารเหล่านี้ทำให้ความวิตกกังวลรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ก็สามารถช่วยให้ระดับความวิตกกังวลลดต่ำลง
การเลือกรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยจัดการกับโรควิตกกังวล เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลทั่วไปมักจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเครียดในสถานที่ทำงาน ความเครียดในครอบครัว แต่ในขณะที่โรควิตกกังวลนั้นมักเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลในสมอง ซึ่งสารอาหารบางชนิดสามารถช่วยให้สมองของเราเกิดความสมดุลของสารเคมีได้ปกติมากขึ้น ดังนั้นสำหรับใครที่เป็นโรควิตกกังวลและต้องการบรรเทาอาการของโรคนี้ให้ลดลง ก็ควรรับประทานอาหารดังนี้ค่ะ
6 อาหารช่วยลดอาการโรควิตกกังวล
1. ผักใบเขียว
โดยปกติการรับประทานผักก็มีประโยชน์อยู่แล้ว ยิ่งในคนที่ต้องการลดอาการของโรควิตกกังวลการรับประทานผักยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในผักนั้นมีไฟเบอร์สูง อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์นั้นจะทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการย่อยอาหารแบบช้า ๆ และจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ จากงานวิจัยของ Canadian College of Naturopathic Medicine พบว่าเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและลดลงก็ทำให้โรควิตกกังวลมีอาการเพิ่มขึ้นและลดลงได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้อาการของโรควิตกกังวลไม่กำเริบขึ้นมาได้
2. บลูเบอร์รี่
เช่นเดียวกับผัก ผลไม้ก็เต็มไปด้วยไฟเบอร์ซึ่งก็สามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลไม้อย่างบลูเบอร์รี่นั้นมีประโยชน์อย่างมากที่จะรับประทานเพื่อเป็นอาหารที่ช่วยลดอาการของโรควิตกกังวล เพราะบลูเบอร์รี่มีสารแอนโธไซยานินซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกาย และนอกจากบลูเบอร์รี่แล้ว ในแบล็คเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่และเชอร์รี่ก็ล้วนมีแอนโธไซยานินสูงเช่นกัน
3. อาหารหมักดอง
อาหารหมักดองมักเป็นอาหารที่อุดมด้วยโพรไบโอติกส์ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับสมดุลในลำไส้ สารชนิดนี้ยังเป็นสารที่ช่วยต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ คุณประโยชน์ทั้ง 2 สิ่งนี้สามารถช่วยลดการตอบสนองของสมองต่อความเครียด ยิ่งไปกว่านั้นอาหารหมักดองยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินและโดปามีนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดนี้ทำหน้าที่ในควบคุมอารมณ์ และหากร่างกายผลิตออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราเช่นกัน
4. ถั่ว
ถั่วถือเป็นอาหารที่ช่วยต้านโรควิตกกังวลได้ดี เนื่องจากมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดความวิตกกังวล รวมถึงยังมีแมกนีเซียมที่สามารถช่วยให้อาการวิตกกังวลดีขึ้นได้ จากการศึกษาของ Institute of Basic Medical Sciences พบว่าคนที่ขาดแมกนีเซียมมักจะมีความรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้น ดังนั้นการเลือกรับประทานถั่วจึงสามารถช่วยต้านความวิตกกังวลได้ โดยถั่วอย่างเช่นวอลนัทและพีแคนเป็นประโยชน์ต่อการลดอาการของโรคนี้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และถั่วอย่างบราซิลนัทก็เป็นอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง นอกจากนี้ในบรรดาถั่วอื่น ๆ ทั้งหลายยังมีซีลีเนียมที่ช่วยต้านการอักเสบได้อีกด้วย
5. ปลาทะเล
แน่นอนว่าถั่วเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ดีเยี่ยม แต่ไม่ใช่อาหารเพียงอย่างเดียวค่ะ เพราะในเนื้อปลาทะเลก็เป็นแหล่งของกรดไขมันชนิดนี้เช่นกัน และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เนื้อปลาทะเลเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลได้ กรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถช่วยควบคุมสารสื่อประสาทและลดการอักเสบ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองและสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งเนื้อปลาทะเลอย่างเช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน สามารถเป็นอาหารที่ช่วยลดอาการของโรควิตกกังวลได้ อย่างไรก็ตามหากเราไม่กินปลา เราก็ยังสามารถรับโอเมก้า 3 ได้จากการรับประทานสาหร่ายทะเลและน้ำมันมะกอกได้เช่นกัน
6. ดาร์กช็อกโกแลต
ในดาร์กช็อกโกแลตนั้นอุดมไปด้วยแมกนีเซียม และสารฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพสูงในการช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารฟลาโวนอยด์ในดาร์กช็อกโกแลตนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง การวิจัยของ University of L’Aquila ประเทศอิตาลี แสดงให้เห็นว่าสารชนิดนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและช่วยเพิ่มการส่งสัญญาณของเซลล์ ทำให้เราสามารถจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้นและช่วยลดอาการของโรควิตกกังวลได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- โรควิตกกังวล คืออะไร? อีกโรคทางจิตใจที่มีความคล้ายโรคซึมเศร้า
- 5 อาหารช่วยลดอาการโรคแพนิค ลดเครียด ตื่นตระหนก วิตกกังวล
- 7 อาหารช่วยกระตุ้นเซโรโทนิน ลดโรคซึมเศร้า ลดเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล