โรควิตกกังวล คืออะไร? อีกโรคทางจิตใจที่มีความคล้ายโรคซึมเศร้า
ความวิตกกังวลถือเป็นความรู้สึกที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันและถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งแตกต่างจาก โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ค่ะ
โรควิตกกังวล ถือเป็นอีกโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีความรู้สึกแตกต่างออกไปจากความวิตกกังวล โดยโรควิตกกังวลนั้น ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัวหรือมีความวิตกกังวลมากจนเกินไป ไม่สามารถควบคุมได้หรือควบคุมได้ยาก และมีอาการไปจนถึงขั้นกระทบต่อชีวิตประจำวัน
ประเภทของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลนั้นถูกแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ดังนี้ค่ะ
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder , GAD)
พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน โดยถือว่ายังมีอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การทำงาน ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถระงับความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่หากผู้ป่วยยังรู้สึกวิตกแบบเดิมนานเกินกว่า 6 เดือนก็ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
- โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)
คือโรคที่กลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง หรือกลัวการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น กลัวสุนัข กลัวที่แคบ
- โรคตื่นตระหนกหรือโรคแพนิค (Panic Disorder)
ผู้ป่วยโรคแพนิคมักมีอาการตื่นตระหนกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล คือการที่อยู่ดีๆ ก็เกิดกลัวขึ้นมาเป็นพักๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ใจสั่น มือเท้าชา คลื่นไส้ เวียนหัว โดยอาการของแพนิคไม่ถือเป็นโรคร้ายแรงเพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายอย่างมากค่ะ
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD)
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD คือโรคที่ทำให้เกิดความคิดซ้ำๆ และทำให้ร่างกายมีการตอบสนองด้วยพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น คิดว่าตัวเองลืมล็อคประตูบ้าน ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการตรวจที่กลอนประตูบ้านซ้ำๆ
- โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety)
ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องมีการเข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม จนทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมตามมา
สาเหตุของการเกิดโรควิตกกังวล
สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรควิตกกังวล สามารถเกิดได้จากปัจจัยดังนี้ค่ะ
- พันธุกรรม มีความเป็นไปได้ว่าหากพ่อหรือแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
- สภาพแวดล้อม ทั้งการเลี้ยงดูหรือแม้แต่การเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก ก็สามารถทำให้เป็นปจจัยในการเกิดโรคนี้ขึ้นมาได้ค่ะ
- พบเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ การสูญเสียคนรักหรือการพบเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรงก็สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการของโรควิตกกังวล
อาการของโรควิตกกังวลนั้นแตกต่างจากความกังวล และในบางครั้งก็มีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคซึมเศร้าด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
- กระวนกระวาย
- เหนื่อยง่าย
- ขาดสมาธิ
- นอนไม่หลับ
- หงุดหงิด
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ซึมเศร้า
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
ในบางครั้งเราอาจเจอผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าไปพร้อมกัน (Mixed anxiety–depressive disorder) ซึ่งหากเราสงสัยว่ากำลังเป็น โรควิตกกังวล เนื่องจากกำลังมีอาการคล้ายๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น เราควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและเพื่อหาแนวทางรักษาโรคต่อไปค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
เช็คก่อนจะสาย 9 สัญญาณ โรคซึมเศร้า ตกลงเราเป็นหรือไม่เป็น