5 อาหารระคายเคืองกระเพาะ กระตุ้นให้ท้องเสีย ท้องร่วง
อาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ เพราะมีส่วนทำให้ระบบย่อยอาหารระคายเคือง เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย รวมถึงอาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีไขมันมากเกินไปและอาหารที่มีเส้นใยไม่เพียงพอ
ในกรณีทั่ว ๆ ไป อาการท้องเสียมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ร่างกายพยายามขับออก แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารบางอย่างก็อาจทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน อาหารบางประเภทก็กระตุ้นให้ท้องเสียและระบบทางเดินอาหารระคายเคือง อาการที่เกิดขึ้นก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่อาการที่มักมีคล้ายกันก็คือปวดท้อง ท้องเสียและท้องร่วง
5 อาหารระคายเคืองกระเพาะ
1. น้ำนม
ผู้ที่แพ้แลคโตสควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม ชีส และไอศกรีม ภาวะแพ้แลคโตสเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบในนมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย อาการของภาวะนี้อาจมีทั้งปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะ ท้องเสีย ท้องอืด เป็นตะคริว และคลื่นไส้ โดยทั่วไปการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนม เป็นวิธีการป้องกันอาการท้องเสียและช่วยลดปัญหาการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเริ่มมีผลิตภัณฑ์อาหารจากนมที่กำจัดแลคโตสออกไปได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็สามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่แพ้เลคโตสสามารถย่อยได้ง่ายขึ้น
2. พริก
พริกขี้หนูเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้บ่อย แต่ก็มักไม่ก่อให้เกิดอาการในทันทีจนกว่าจะกินไปแล้วหลายชั่วโมง สารที่ชื่อว่าแคปไซซินในพริกบางชนิด สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องร่วงได้ โดยสารชนิดนี้จะก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุลำไส้ และเร่งการเคลื่อนไหวของลำไส้เพื่อกำจัดสารระคายเคือง ซึ่งนอกจากจะทำให้ท้องเสียได้แล้ว ยังอาจเกิดตะคริวในช่องท้องและอาจรู้สึกแสบร้อนบริเวณทวารหนักเพราะบริโภคอาหารรสเผ็ดมากเกินไป
3. คาเฟอีน
คาเฟอีนมีส่วนในการเร่งการย่อยอาหารและมีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยเฉพาะในคนที่ท้องเสียง่ายและบางคนที่ไวต่อคาเฟอีน การดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อุจจาระเหลวได้ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชาดำ และโคล่า ก็ถือเป็นอาหารที่เป็นแหล่งคาเฟอีน นอกนั้นก็ยังมีช็อกโกแลตและเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนโดยเฉพาะกาแฟอาจกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองในลำไส้ และในผู้ที่เป็นโรค IBS (ลำไส้แปรปรวน) อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงและมีอาการท้องเสียได้
4. ไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์
อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารมันๆ และเนื้อติดมัน อาจใช้เวลาในการย่อยนานและทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง ส่งผลให้ท้องเสีย อาหารที่มีไขมัน มันเยิ้ม มักมีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ไขมันชนิดนี้จะจับตัวเป็นก้อนและทำให้ร่างกายมีปัญหาในการสลายไขมันเหล่านี้ การลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวให้ไม่เกิน 10% ของแคลอรีทั้งหมดในแต่ละวัน ไม่เพียงแต่จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียแต่ยังช่วยรักษาสุขภาพหัวใจได้ด้วย
5. สารให้ความหวานเทียม
สารทดแทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอลและแมนนิทอลสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท ตั้งแต่ลูกอม เครื่องดื่มไปจนถึงสารให้ความหวานแบบซองที่มีวางขายทั่วไป แม้แต่อาหารที่เรียกว่าปราศจากน้ำตาล ก็อาจมีสารให้ความหวานเทียมเหล่านี้ สารให้ความหวานเทียมมักจะถูกย่อยสลายในอัตราที่ช้ากว่าน้ำตาลปกติและยังคงสภาพเดิมเมื่อเคลื่อนผ่านทางเดินอาหาร และอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง แม้ว่าสารทดแทนน้ำตาลจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก แต่การบริโภคสารให้ความหวานเทียมมากเกินไปอาจส่งผลให้อาการท้องเสียกำเริบหรือแย่ลงได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ท้องเสียกินอะไรดี ต้องลอง! 7 อาหารควรทาน เมื่อ ท้องเสีย หรือ ท้องเสียเฉียบพลัน
- ท้องเสียห้ามกินอะไร? รวมอาหารที่ควรเลี่ยงเมื่อท้องเสีย พร้อมแนะอาหารที่ควรกิน