3 พฤติกรรมที่ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรมหนักกว่าเดิม โรคไม่หายแถมกลายเป็นเรื้อรัง
ถึงแม้ว่าช่วงนี้หลายคนจะได้ทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ก็ไม่อาจทำให้เรารู้สึกสบายขึ้นมาได้ เพราะนอกจากงานที่ยังคงเครียดเหมือนเดิมแล้ว กลายเป็นว่าสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ อาจจะไม่อำนวยความสะดวกให้เราเหมือนกับในที่ทำงานค่ะ เพราะในที่ทำงานนั้นมีทั้งโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะกับการนั่งทำงานนาน ๆ รวมถึงมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่คอยอำนวยความสะดวกให้เรา แต่พอมาทำงานที่บ้านทั้งโต๊ะทั้งเก้าอี้รวมถึงบรรยากาศต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานของเราเท่าไหร่ และทำให้เรากลายเป็นโรคปวดหลัง ปวดไหล่ หรือโรคออฟฟิศซินโดรมขึ้นมาได้ ยังไม่นับว่าคนที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมอยู่แล้วก็อาจจะทำให้อาการหนักขึ้นค่ะ
คนเป็นออฟฟิศซินโดรมมักจะมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ นิ้วล็อค กล้ามเนื้ออักเสบ รวมถึงมีอาการชาตามมือและปลายนิ้ว ซึ่งหลาย ๆ คนก็มีวิธีบรรเทาอาการให้ลดน้อยลงต่าง ๆ กันไป แต่รู้หรือไม่ว่าวิธีการบางอย่างที่เราทำโดยไม่รู้ตัวนั้น อาจจะทำให้โรคออฟฟิศซินโดรมของเราอาการหนักกว่าเดิมได้ค่ะ วันนี้เราลองมาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรมไม่หายสักที แถมอาจจะทำให้อาการหนักกว่าเดิมก็ได้ค่ะ
3 พฤติกรรมที่ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรมหนักกว่าเดิม
1. กินยาโดยไม่ระวัง
หลายคนพอมีอาการปวดหลังปวดไหล่ มีอาการออฟฟิศซินโดรมกำเริบขึ้นมาก็ทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะหวังว่ารักษาอาการปวดแบบนี้ให้หายไปได้ พอมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่ก็ทานยาแบบนี้อีก แต่รู้หรือไม่ว่าการทานยาแก้ปวดพวกนี้ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน อย่างยาพาราเซตามอลก็มีผลต่อตับได้ และห้ามทานยาพาราเซตามอลต่อเนื่องกันเกิน 5 วัน
ส่วนยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเป็นยาแก้ปวดลดอักเสบที่แก้อาการปวดได้ดีกว่าพาราเซตามอล แต่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ของยากลุ่มนี้ก็คือก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงห้ามกินยากลุ่มนี้ตอนท้องว่าง และห้ามกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะเสี่ยงกับการเกิดโรคกระเพาะ แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงยังสามารถส่งผลต่อตับได้อีกด้วย
2. นวดแก้ปวด
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นอาจจะทำให้เรามีอาการปวดหลังและปวดไหล่ได้ ซึ่งการการนวดก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่บรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องนวดกับนักกายภาพบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องใช้การนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรงค่ะ เพราะถ้าหมอนวดไม่มีความชำนาญมากพอแล้วนวดรุนแรงมากเกินไป ก็จะสามารถไปทำลายกล้ามเนื้อหรือทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล้ามได้ค่ะ ยกตัวอย่างหากเราไปนวดไหล่ นวดแขนกับผู้ที่ไม่ชำนาญ ก็อาจจะทำให้เราเกิดการอักเสบมากขึ้นและส่งผลให้เรายกแขนไม่ขึ้น กระดูกสะบักยื่นออกมามากกว่าเดิม ซึ่งแทนที่จะได้คลายปวดกลับกลายเป็นว่าอาการหนักกว่าเดิมได้ค่ะ
3. ปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง
หลายครั้งที่อาการออฟฟิศซินโดรมกำเริบขึ้นมาและก็หายไปได้เอง ทำให้หลายคนที่เป็นโรคนี้ไม่ค่อยให้ความใส่ใจในการรักษา ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการปวดที่เกิดจากการที่เราใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งหากเราไม่รักษากล้ามเนื้อที่อักเสบเหล่านี้ก็จะมีลักษณะคล้ายพังผืดเกาะกล้ามเนื้อ ยิ่งถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือว่าไม่รักษาที่ต้นเหตุ สุดท้ายก็จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือบางคนก็อาจจะส่งผลกระทบกับบุคลิกภาพ รวมถึงอาการปวดเหล่านี้ยังสามารถส่งผลไปถึงสุขภาพจิตได้ด้วยค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 4 วิธีปรับเก้าอี้ทำงาน นั่งนานไม่เมื่อย ถูกสรีระ ไม่เป็นออฟฟิศซินโดรม
- 3 ท่าแก้ปวดเมื่อย กำจัดอาการออฟฟิศซินโดรม