5 อาหาร ที่มีโซเดียมแฝง ไม่เค็มแต่อันตราย กินมากเสี่ยงโรคไต
รู้หรือไม่ อาหารบางชนิดไม่มีรสชาติเค็ม แต่ก็มีโซเดียมแฝงอยู่นะ! วันนี้เราจะพามาดู 5 อาหารที่มีโซเดียมแฝง ไม่เค็มแต่อันตราย กันค่ะ ต้องบอกว่าปัจจุบันคนไทยเรามีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน อาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือจากความไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทนั้นๆ ซึ่งผลจากการกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง ฉะนั้นการรับรู้ว่าอาหารชนิดใดมีโซเดียมแฝงอยู่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคไตไปได้
ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน
โดยปกติร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม เมื่อเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร
โซเดียมแฝงคืออะไร
โซเดียมแฝงคือ โซเดียมที่อยู่ในสารประกอบต่างๆ ที่ไม่ใช่เกลือ มักจะถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหาร ประกอบอาหารต่างๆ โดยโซเดียมเหล่านี้อาจไม่ได้มีรสชาติเค็ม จึงทำให้เราบริโภคมาเกินไปโดยที่ไม่รู้ตัวได้ ซึ่งโซเดียมแฝงที่ไม่ใช่เกลือนี้จะสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ เป็นวัตถุเจือปนที่มักมีคำว่าโซเดียมประกอบอยู่ในชื่อนั่นเอง
อาหารที่มีโซเดียมแฝง เสี่ยงโรคไต
1. เครื่องปรุงรสทั้งที่มีรสเค็มและไม่มีรสเค็ม
แน่นอนว่าเครื่องปรุงรสที่มีสรเค็มย่อยมีโวเดียมสูง แต่ทั้งนี้เครื่องปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มก็มีโซเดียมแฝงอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว กะปิ ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า ซุปก้อน ผงชูรส เครื่องปรุงรสอื่นๆ หากใส่แต่น้อยก็จะช่วยลดการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่มากกว่าปกติไปได้ค่ะ
2. อาหารแปรรูป
อาหารแปรรูป ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักผลไม้ดอง มักจะมีโซเดียมสูงจากเกลือ และโซเดียมแฝงจากวัตถุเจือปนอาหาร
3. ขนมที่มีการเติมผงฟู
ผงฟู ก็คือโซเดียมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) นั่นเอง ซึ่งผงฟูนั้นมักจะอยู่ขนมอบทั้งหลาย เช่น เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง แป้งสำเร็จรูป เป็นต้น
4. เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำผลไม้
เครื่องดื่มเกลือแร่ มักมีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมเกลือปรุงรสชาติ และโซเดียมแฝงจากวัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะสารกันบูด ซึ่งอีกชื่อหนึ่งก็คือ โซเดียมเบนโซเอต นั่นเอง
5. อาหารธรรมชาติทุกชนิด
อาหารธรรมชาติทุกชนิดมักมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ โดยเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าผักผลไม้ ธัญพืช และถั่วเมล็ดแห้ง ที่ยังไม่แปรรูป แต่อย่างไรก็ตามอาหารธรรมชาติถือว่ามีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งทั้งหมด และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการได้รับอีกด้วย
ทั้งนี้นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และขนมเบเกอรีทั้งหลายแล้ว การอ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียม รวมถึงโซเดียมแฝงที่ปรากฎบนภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็จะช่วยให้เราลดการกินเค็มไปได้มากเลยทีเดียว!
ขอบคุณข้อมูลจาก :
บทความที่คุณอาจสนใจ
- เช็ค! ปริมาณโซเดียมที่ควรกินต่อวัน พร้อมรู้ทันโซเดียมแฝง สาเหตุความดันสูง
- 6 อาหารโซเดียมสูง ไม่ควรกินเยอะ เสี่ยงโรคไต บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง