รีเซต

ทำความรู้จัก ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง สาเหตุและการรักษาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ทำความรู้จัก ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง สาเหตุและการรักษาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
faiinatnista
17 กันยายน 2564 ( 18:00 )
469

     ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือ อาการที่เปลือกตาบนหย่อนลงมามากกว่าปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เป็นปัญหาดวงตาที่ทำให้เสียบุคลิกภาพ เพราะอาการตาปรือ เปลือกตาตก จะทำให้ใบหน้าดูง่วงนอน ไม่สดใส มีผลต่อความสวยงามและการมองเห็นในระยะยาว พบได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้ในผู้ที่มีตาสองชั้น ผู้ที่มีตาชั้นเดียว หรือชั้นตาหลบใน ส่วนมากจะทราบว่ามีปัญหานี้ก็ต่อเมื่ออยากทำตาสองชั้น มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่มาพบจักษุแพทย์

 

 

ลักษณะของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

     ดวงตาจะดูปรือเหมือนลืมตาได้ไม่สุด ลักษณะเหมือนคนง่วงนอนตลอดเวลา ดูเหนื่อยและอ่อนเพลีย จะเห็นเบ้าตาได้ลึกมากกว่าปกติ ถ้าเป็นมากมักจะมีอาการเลิกคิ้วร่วมด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดริ้วรอยบริเวณหน้าผากได้ง่าย ซึ่งอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาจเป็นเพียงหนึ่งข้าง หรือสองข้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ 

 

 

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงส่งผลอย่างไรบ้าง?

     หากเป็นในวัยเด็ก เด็กมักมีอาการแหงนหน้ามอง หากไม่ได้รับการแก้ไขในเวลาที่เหมาะสมจะส่งผลเสียต่อการมองเห็นถาวรได้ เกิดภาวะตาขี้เกียจ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียบุคลิกภาพที่ดี เสียความมั่นใจ เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร ถ้าเป็นมากมักส่งผลต่อการมองเห็นในชีวิตประจำวันได้ 

 

สาเหตุของการเกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง 

 

 

1. เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital Ptosis)
2. อายุที่มากขึ้น (Involutional Ptosis)
3. อุบัติเหตุหรือมีการผ่าตัดบริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงภายหลังได้ (Traumatic Ptosis)
4. ระบบประสาทผิดปกติ (Neurogenic Ptosis) อาจเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทสมองผิดปกติ หรือเกิดจากสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ เช่น โรค Myastenia Gravis (MG)
5. มีก้อนมากดทับขวางการทำงานของกล้ามเนื้อตา (Mechanical Ptosis)

 

การรักษาโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

     การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ควรให้จักษุแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยจากภาวะความรุนแรงและสาเหตุ เพื่อหาวิธีการรักษาที่ตรงจุด 

1. ผ่าตัดโดยการปรับกล้ามเนื้อตา Levator Palpebrae Superioris หรือร้อยเอ็นเทียม
2. ใช้ยารักษา เช่น โรค Myastenia Gravis (MG)
3. ผ่าตัดเอาก้อนออกในรายที่เกิดจากก้อนกดทับ

 

 

     หากในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแล้วไม่ได้ผ่าตัดแก้ไขให้ตรงจุด อาจเกิดภาวะตาปรือในภายหลังได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ การจัดการกับกล้ามเนื้อ Levator โดยแพทย์จะไปทำการเลาะชั้นกล้ามเนื้อตานี้ออกแล้วเย็บซ่อมแซมให้แข็งแรง หรือผ่าตัดตกแต่งเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการที่แตกต่างกันในแต่ละราย

     การผ่าตัดแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นการผ่าตัดเล็ก หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย การผ่าตัดทำได้โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ และใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป 

     ใครที่สงสัยว่าตัวเองกำลังมีอาการเดียวกับโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โดยที่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คให้แน่ใจก่อนอาการลุกลาม เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกวิธี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :

  • พญ.ณัฏฐ์ธยาน์ สินประเสริฐกูล (หมอยุ้ย) จักษุแพทย์เฉพาะทางตกแต่งและเสริมสร้าง Occuloplastic Surgeon ประจำจาเรมคลินิก Jarem Clinic

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง