รู้จักโรค Aphasia อาการและสาเหตุของโรค Aphasia ภาวะสูญเสียการสื่อความหมาย
จากกรณีข่าวใหญ่สะเทือนวงการ ที่นักแสดงหนุ่ม บรูซ วิลลิส ประกาศว่ากำลังเผชิญหน้ากับอาการป่วย อย่างอาการบกพร่องทางการสื่อสาร จึงต้องประกาศอำลาวงการ เกษียณออกจากอาชีพนักแสดงนั้น เราจะพาไปรู้จักโรค Aphasia หรือภาวะสูญเสียการสื่อความหมายกันค่ะ ว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไรและจะป้องกันรักษาได้อย่างไรบ้าง
โรค Aphasia ภาวะสูญเสียการสื่อความหมาย คืออะไร
โรค Aphasia หรือ ภาวะสูญเสียการสื่อความหมาย เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะสูญเสียทักษะด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาไป โดยผู้ป่วยมักจะเสียความสามารถในการพูดหรือทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย
สาเหตุของโรค Aphasia
โรค Aphasia เกิดจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย โดยอาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง และอาจเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ จากการติดเชื้อในสมอง หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท
อาการของโรค Aphasia
สำหรับอาการของโรค Aphasia อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหายและระดับความรุนแรงของความเสียหาย โดยภาวะสูญเสียการสื่อความหมายนี้จะแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ซึ่งแต่ละลักษณะก็อาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้ : ผู้ป่วยจะสามารถพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง และไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ : ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้นๆ พูดไม่จบประโยค ลืมคำบางคำ ใช้คำไม่ถูกต้อง และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด
- ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Conduction : ผู้ป่วยสามารถพูดได้ เข้าใจและใช้ภาษาได้ดี แต่ไมาสามารถพูดตามผู้อื่นได้
- ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global : ผู้ป่วยไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้
การป้องกันโรค Aphasia
การป้องกันโรค Aphasia สามารถทำได้ โดยเน้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจสร้างความเสียหายต่อสมองและก่อให้เกิดภาวะเกี่ยวกับสมอง ดังนี้
- กินอาหารที่มีไขมันต่ำ
- กินอาหารที่มีสารอาหารช่วยบำรุงสมอง
- ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 7 อาหารบำรุงสมอง กินแล้วความจำดี ไม่ขี้ลืม ลดเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
- 10 วิตามินบำรุงสมอง อาหารเสริมบำรุงสมอง ช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น ความจำดี ไม่ขี้ลืม