7 อาหารและเครื่องดื่มช่วยบำรุงตับ ลดไขมันพอกตับ ช่วยลดโรคตับอักเสบ
โรคไขมันพอกตับ เกิดจากการมีไขมันสะสมในตับมากผิดปกติ โรคนี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เบาหวาน ระดับไขมันในเลือดสูง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วและการบริโภคแอลกอฮอล์
โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ และภาวะตับวาย เป็นโรคตับร้ายแรงที่สามารถพัฒนามาจากโรคไขมันพอกตับได้ การตรวจหาและรักษาโรคไขมันพอกตับตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ การรักษาโรคไขมันพอกตับมักเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น เลิกดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และลดน้ำหนัก
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
การรับประทานอาหารให้สมดุลสามารถช่วยทำให้อวัยวะภายในรวมถึงตับของเราแข็งแรงได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีอาหารและเครื่องดื่มบางอย่างที่ทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น
- อาหารที่มีไขมันสูง: อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด และอาหารแปรรูป รววมไปถึงขนมขบเคี้ยวบางอย่างก็อาจมีไขมันสูงจนน่าตกใจ
- อาหารประเภทแป้ง: ขนมปังแปรรูป เค้ก และขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ
- น้ำตาล: น้ำตาลและอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ซีเรียล ขนมหวานและลูกอม อาจส่งผลให้ตับทำงานหนักได้
- เกลือ: วิธีง่าย ๆ ในการลดปริมาณเกลือ ได้แก่ การรับประทานอาหารนอกบ้านให้น้อยลง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์หรือผักกระป๋อง และลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: หากไม่ต้องการให้ตับทำานหนักจนเกินไป อาจต้องพิจารณาลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเลิกการดื่มไปเลย
7 อาหารและเครื่องดื่มช่วยบำรุงตับ
1. กาแฟ
กาแฟอาจเป็นเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อตับ จากผลการศึกษาของ University of Naples ประเทศอิตาลี แสดงให้เห็นว่ากาแฟส่งผลต่อเอนไซม์ตับและมีส่วนช่วยในการลดการสะสมไขมันในตับ นอกจากนี้กาแฟยังช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในตับ และสารประกอบในกาแฟยังช่วยให้เอนไซม์ตับสามารถกำจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งออกจากร่างกายได้ด้วย
2. ข้าวโอ๊ต
การบริโภคข้าวโอ๊ตเป็นวิธีง่าย ๆ ในการเพิ่มไฟเบอร์ให้กับร่างกาย ไฟเบอร์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยย่อยอาหาร และยิ่งกว่านั้นเส้นใยเฉพาะที่มีในข้าวโอ๊ตยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อตับ รวมถึงข้าวโอ๊ตก็ยังมีสารประกอบที่เรียกว่าเบต้ากลูแคนสูง
เบต้ากลูแคนมีฤทธิ์ในการช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันและต่อสู้กับการอักเสบ เบต้ากลูแคนจากข้าวโอ๊ตสามารถช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในตับและทำให้สามารถช่วยปกป้องตับได้ด้วย อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการรับประทานข้าวโอ๊ต ควรเลือกข้าวโอ๊ตทั้งเมล็ดหรือข้าวโอ๊ตบดมากกว่าข้าวโอ๊ตสำเร็จรูป เพราะข้าวโอ๊ตแบบสำเร็จรูปอาจมีการเติมแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3. กระเทียม
จากการศึกษาของ Isfahan University of Medical Sciences ประเทศอิหร่าน พบว่าการรับประทานกระเทียมเพิ่มขึ้นหรือการรับประทานผงกระเทียมแบบอัดเม็ดและแบบแคปซูล สามารถช่วยลดไขมันในร่างกายของผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับได้
4. ส้มโอ
ส้มโอมีสารต้านอนุมูลอิสระหลักคือนารินจิน (naringin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) มีรสขม สารชนิดนี้มีส่วนช่วยป้องกันตับจากการบาดเจ็บ โดยจะเข้าไปลดการอักเสบและช่วยปกป้องเซลล์ตับ รวมถึงยังสามารถช่วยป้องกันภาวะไขมันพอกตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ โดยการลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้
5. น้ำมันมะกอก
แน่นอนว่าการกินไขมันมากเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อตับ แต่ไขมันบางชนิดกลับไม่เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างน้ำมันมะกอก เพราะมีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จึงทำให้สามารถช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันและช่วยปรับการทำงานของตับให้กลับมามีประสิทธิภาพได้
6. ผลเบอร์รี่
ผลเบอร์รี่หลายชนิด เช่น บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแครนเบอร์รี่ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าโพลีฟีนอล ซึ่งสามารถช่วยปกป้องตับจากการถูกทำลายได้ การรับประทานผลเบอร์รี่รวมถึงน้ำเบอร์รี่สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในตับ ลดการอักเสบจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน รวมถึงช่วยลดภาวะไขมันพอกตับและส่งผลทำให้ความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในตับลดลง
7. องุ่น
เมล็ดองุ่นและเปลือกองุ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้มีส่วนในการช่วยป้องกันความเสียหายของตับ การรับประทานองุ่นทั้งเมล็ดเป็นวิธีง่าย ๆ ในการช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย และนอกจากนี้เราอาจยังเพิ่มการรับประทานอาหารเสริมสารสกัดจากเมล็ดองุ่นก็ได้ด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 5 อาหารลดไขมันเกาะตับ ช่วยล้างสารพิษ ร่างกายสะอาด ลดความเสี่ยงโรค
- 4 อาหาร กินบ่อยๆ เสี่ยงไขมันพอกตับ ไขมันสะสมมากไม่รู้ตัว