15 วิธีลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง แค่เลี่ยง ลด พฤติกรรมเหล่านี้ก็ห่างไกลมะเร็งได้!
โรคมะเร็ง ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ แต่ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุการเกิดเชื้อมะเร็งมาจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นช่องว่างเปิดโอกาสให้มะเร็งเข้าลุกลาม ล่าสุดข้อมูลจาก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เผย สถิติปี 2561 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคน ก่อนช่วงสิ้นปี 2561 ขณะเดียวกันมะเร็งยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 และมีแนวโน้มการเสียชีวิตสูงขึ้นในทุกปี ซึ่งพฤติกรรมโปรดในชีวิตประจำวันของหลายคน อาจกำลังทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว วันนี้เราจึงมี 15 วิธี เลี่ยง ลด เสริม ให้ห่างไกลโรคมะเร็งมาฝากกันค่ะ
เลี่ยง... สาเหตุที่ทำให้เสี่ยงมะเร็ง
ในโลก New Normal แบบนี้ หลายบริษัทมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆ อาจต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ร่วมกับส่วนรวม หรือครอบครัว ฉะนั้นสิ่งที่ควรเลี่ยงก็ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษที่มีสารก่อเกิดมะเร็ง
อาทิ ควันจากบุหรี่ หรือควันจากธูป ภายในบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากในยุคที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน กิจกรรมต่างๆ อาจอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่นการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือระเบียงคอนโด เป็นต้น
2. เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์วันละนิดก็อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้แล้ว โดยการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งประเภทต่างๆ เช่น มะเร็งศีรษะและลำคอ รวมทั้งมะเร็งช่องปากและคอหอย มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับและมะเร็งเต้านม
3. หลีกเลี่ยงการขับถ่ายไม่เป็นเวลา
หลีกเลี่ยงการขับถ่ายไม่เป็นเวลาหรือการปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆ จากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย การกินอาหารที่ไม่สดใหม่ หรืออาหารค้างคืน ที่อาจเกิดจากการทำงานเพลิน ขยับตัวน้อย ซึ่งการขับถ่ายไม่เป็นเวลาหรือท้องผูกบ่อยๆ อาจทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ได้
ลด... บริโภคอาหารร้ายที่มะเร็งรัก
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดเช่นนี้ หลายบ้านอาจเลือกสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงซ้ำ มากินบ่อยๆ ดังนั้นควรลดพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อป้องกันมะเร็ง
1. ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไนโตรชามีนในเนื้อสัตว์แปรรูป
เนื้อสัตว์แปรรูปทั้งหลาย อาทิ ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง ล้วนเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
2. ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไฮโดรคาร์บอน
สารไฮโดรคาร์บอนนั้นพบได้มากในยางไม้ ถ่านหิน และปิโตรเลียม ซึ่งสารนี้มักเป็นสารที่แฝงอยู่ในอาหารที่ไหม้เกรียม และน้ำมันที่ทอดซ้ำกันหลายรอบนั่นเอง
3. ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารอัลฟาทอกซิน
สารอัลฟาทอกซินคือสารพิษที่ผลิตจากเชื้อรานั่นเอง ซึ่งพบได้มากในอาหารแห้งที่อับชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น หรือกุ้งแห้ง ซึ่งสารนี้ถือเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่อันตรายมากเลยทีเดียว
4. ลดอาหารที่มีสารเคมีจากอาหารหมักดอง
อาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง แหนม ปลาร้า อาหารเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
5. ลดการกินอาหารที่ไม่สุก
เนื่องจากอาหารที่ไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นแหล่งสะสมของพยาธิที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ อาทิ ลาบเลือด ปลาน้ำจืดดิบ หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด
เสริม... การป้องกัน ห่างไกลมะเร็ง
ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเพิ่มขึ้น ซึ่งการเสริมภูมิคุ้มกันก็สามารถทำได้ดังนี้
1. กินผักและผลไม้อย่างน้อย 5 สี ต่อวัน
ผักและผลไม้แต่ละสีนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระจากวิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารต่างๆ อีกหลากหลายชนิด ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี
2. เสริมการกินข้าว แป้ง และธัญพืชที่ไม่ขัดสี
หากจะเลือกกินข้าว แป้ง หรือธัยพืชทั้งที ก็แนะนำให้เลือกแบบไม่ขัดสี เนื่องจากมีกากใยช่วยในการขับถ่าย ทั้งยังมีสารอาหารและสารอนุมูลอิสระที่มากกว่าอาหารที่ขัดสีด้วย
3. เสริมการปรุงแต่งรสชาติอาหารด้วยเครื่องเทศ แทนการใช้ผงปรุงรส
การใช้ผงปรุงรสในปริมาณที่มากเกินไป เช่น หวาน เค็ม เผ็ด ก็อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน
4. เสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ึ การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ในอีกทางหนึ่ง หากภูมิคุ้มกันดีก็จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลโรคต่างๆ ไปได้
5. เสริมการผ่อนคลายร่างกายและสมอง
เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถขจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ ทั้งนี้การผ่อนคลายร่างกายและสมองบ้างก็จะช่วยลดภาวะความเครียดที่พบเจอแต่ละวันได้
6. เสริมการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ และเหมาะกับร่างกายแต่ละช่วงวัย
ช่วงเวลานอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงที่ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งการนอนหลับให้เพียงพอก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันทีดี ไม่ป่วยง่าย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ไปได้
7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้เรารู้เท่าทัน ป้องกัน รวมถึงหาวิธีรักษาโรคได้ทันท่วงที
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 4 อาหารที่มีไนเตรตสูง กินเยอะเสี่ยงโรคมะเร็ง อร่อยแค่ไหนต้องห้ามใจ!
- 5 อันดับโรคมะเร็งยอดฮิตในผู้ชายและผู้หญิง พร้อมวิธีป้องกัน ให้ห่างไกลโรคมะเร็ง