รีเซต

7 ประเภทของการปวดหัว ปวดแบบไหน บอกโรคอะไรบ้าง

7 ประเภทของการปวดหัว ปวดแบบไหน บอกโรคอะไรบ้าง
BeauMonde
6 มีนาคม 2566 ( 00:33 )
1.9K

     ใครๆ ก็เคยประสบกับอาการปวดหัวกันมาแล้วทั้งนั้น ถึงแม้อาการปวดศีรษะจะเป็นเรื่องปกติ แต่อาการปวดศีรษะก็มีหลายประเภท และแต่ละอาการก็จะมีระดับความรุนแรง และทางเลือกในการรักษาที่แตกต่างกัน แต่อาการปวดศีรษะที่เราเคยเป็นนั้น เป็นเพียงแค่อาการปวดหัวธรรมดาทั่วไปหรือเป็นสัญญาณของอาการทางการแพทย์ที่ร้ายแรงกว่านั้นหรือไม่? วันนี้เราได้รวบรวมอาการปวดหัวแต่ละแบบมาให้ได้คุณได้ลองนำไปตรวจสอบอาการของตัวเองดูค่ะ

 

 

7 ประเภทของการปวดหัว

 

1. ปวดหัวจากความตึงเครียด (Tension Headaches)

     อาการปวดหัวจากความตึงเครียดเป็นอาการปวดศีรษะทั่วไปที่มักเกิดจากความเครียดสะสม ความเจ็บปวดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปอาจจะมีความรู้สึกอื่น ๆ นอกจากอาการปวดหัว เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดท้องร่วมด้วย รวมถึงอาจเกิดความรู้สึกไวหรือปวดบริเวณคอ หน้าผาก หรือไหล่ อาการปวดหัวจากความตึงเครียดส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป

 

2. ปวดหัวไซนัส (Sinus Headaches)

     อาการปวดหัวไซนัส เกิดขึ้นเมื่อโพรงไซนัสอักเสบจากการแพ้ การเจ็บป่วย หรืออยู่ในสภาพอากาศที่แห้ง การปวดหัวจากไซนัสอาจมีอาการปวดร้าวลึกและลามไปยังบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก และดั้งจมูก อาการปวดมักจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการขยับศีรษะกะทันหัน และมักเกิดร่วมกับอาการไซนัสอื่น ๆ เช่น น้ำมูก มีไข้ และหน้าบวม

     อาการปวดหัวจากไซนัสรักษาได้ด้วยการทำให้เสมหะที่สะสมอยู่ลดลง โดยอาจกินยาลดอาการคัดจมูก ยาแก้แพ้ และยาพ่นจมูกตามใบสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตามอาการปวดหัวจากไซนัสอาจเป็นอาการของการติดเชื้อในโพรงไซนัส ซึ่งอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะตามใบสั่งแพทย์เพื่อรักษาการติดเชื้อและช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและอาการร่วมอื่น ๆ

 

3. ปวดหัวจากไมเกรน (Migraines Headaches)

     การปวดศีรษะไมเกรนอาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและบั่นทอนชีวิตประจำวันได้ ไมเกรนเกี่ยวข้องกับการหดตัวของหลอดเลือดและการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง และมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศ ความเครียด การอดนอน โดยอาการปวดหัวอาจเกิดเพียง 30 นาทีหรืออาจนานหลายวัน

     ไมเกรนสามารถทำให้เกิดอาการปวดตุ๊บๆ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของศีรษะ และอาจมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียน อ่อนเพลีย และไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดหัวทั่วไป ไมเกรนอาจมีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น เห็นแสงกะพริบ เส้นซิกแซก หรือจุดบอด

     โดยทั่วไป ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคไมเกรนเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์สั่งยาที่ช่วยลดอาการและวางแผนรักษาอย่างเหมาะสม

 

4. ปวดหัวจากฮอร์โมน (Hormone Headaches)

     ผู้หญิงหลายคนมักจะปวดหัวจากความผันผวนของฮอร์โมน การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน และการรับประทานยาฮอร์โมนคุมกำเนิดจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

     การปวดหัวจากฮอร์โมน สามารถใช้ยาแก้ปวดทั่วไปบรรเทาอาการปวดได้ และอาจใช้ร่วมกับเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะ การฝังเข็ม และการปรับเปลี่ยนอาหารก็อาจช่วยลดหรือป้องกันอาการปวดศีรษะจากฮอร์โมนได้

 

5. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches)

     อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์เป็นโรคปวดศีรษะที่หาได้ยาก ประกอบด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนหรือเสียดแทงรุนแรงรอบ ๆ หรือหลังดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือในบางครั้งก็อาจรู้สึกเสียดแทงข้างใดข้างหนึ่งของใบหน้า และมักมีอาการหน้าบวม หน้าแดง เหงื่อออก คัดจมูก และหนังตาตก

     พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ผู้ที่มีอาการปวดหัวประเภทนี้จะมีอาการปวดรุนแรงยาวนานระหว่าง 15 นาที - 3 ชั่วโมง และอาจเกิดขึ้นบ่อยถึง 8 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 4 - 6 สัปดาห์ หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวางแผนรักษาต่อไป

 

6. ปวดหัวจากความดันโลหิตสูง (Hypertension Headaches)

     อาการปวดหัวจากความดันโลหิตสูง มักเกิดขึ้นเมื่อความดันโลหิตของคุณสูงเกิน 180/110 อาการปวดหัวเหล่านี้มักมีลักษณะการเต้นเป็นจังหวะทั้งสองด้านของศีรษะ และมาพร้อมกับการมองเห็นที่เปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หรือมีเลือดกำเดาไหล หากคุณเชื่อว่าคุณกำลังปวดหัวจากความดันโลหิตสูง ให้ไปพบแพทย์ทันที อาการปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูงสามารถรักษาได้โดยการลดความดันโลหิต

 

7. ปวดหัวจากการออกกำลังกาย (Exertion Headaches)

     อาการปวดหัวอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก วิ่ง ยกน้ำหนัก หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการออกแรงได้ อาการปวดศีรษะด้วยสาเหตุนี้มักปวดแบบตุบๆ ในช่วงสั้น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง 2 ข้างของศีรษะ และรักษาได้ง่าย ๆ ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง