รีเซต

5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอล

5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอล
Beau_Monde
13 ตุลาคม 2563 ( 08:05 )
3.2K

     ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดที่เรากินเมื่อเป็นไข้หรือมีอาการปวดต่างๆ ในบางคนนั้นแทบจะกลายเป็นยาแก้สารพัดโรคค่ะ เนื่องจากหลายๆ คนกินยาชนิดนี้กันแบบไม่ระวัง อาจจะเพราะไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อน หาซื้อได้ง่ายไม่ได้เป็นยาควบคุมอะไร แถมกินแล้วก็ยังช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้น จึงทำให้บางคนนั้นพอป่วยด้วยโรคอะไรก็ตาม ก็จะเลือกกินยาพาราเซตามอลไว้ก่อน

     ยามีทั้งคุณและโทษ ต่อให้เป็นยาพาราเซตามอลก็ตาม แต่หากเราใช้ผิดวิธี ไม่รู้จักยาชนิดนี้ให้ดีพอก็อาจจะเกิดโทษได้ค่ะ วันนี้เรามาดูกันว่า 5 ความเชื่อผิดๆ ของการใช้ยาพาราเซตามอลนั้นจะมีอะไร ถ้ารู้แล้วก็จะได้รีบเปลี่ยนไม่ใช้ผิดวิธีอีก เพียงเท่านี้ยาพาราเซตามอลก็จะให้ประโยชน์และไม่เป็นยาพิษอีกต่อไปค่ะ

 

 

5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอล

 

1. ยิ่งกินยิ่งหายปวด

     ความเชื่อที่ว่ายิ่งกินยาพาราเซตามอลมากๆ ก็จะหายปวด เช่น กิน 1 เม็ดแล้วยังไม่หายก็เลยกินเพิ่มเป็น 2 เม็ด เพราะคิดว่ายาจะแรงขึ้นและทำให้เราหายจากอาการต่างๆ บอกเลยว่าความเชื่อนี้อันตรายมากๆ ค่ะ เพราะความเป็นจริงนั้นไม่ว่าเราจะกินกี่เม็ด หากร่างกายของเราตอบสนองต่อยาเต็มที่แล้ว ยาก็จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อให้กินยามากเท่าไหร่ก็ยังออกฤทธิ์เหมือนเดิมค่ะ การกินยาพาราที่ถูกต้องนั้นควรยึดกับน้ำหนักตัวของเราเป็นหลัก ตามที่แพทย์แนะนำคือ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งสามารถใช้สูตรดังนี้

มิลลิกรัม x กิโลกรัม = จำนวนยาพาราเซตามอล

     ยกตัวอย่างเช่นเราหนัก 50 กิโลกรัม จะสามารถคิดตามสูตรได้ 10 x 50 = 500 มิลลิกรัม จึงเท่ากับเราสามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัมได้ 1 เม็ดค่ะ แต่หากเราหนัก 100 กิโลกรัมก็แน่นอนว่าเราควรกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 2 เม็ดจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามใน 1 วันนั้นห้ามกินเกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือประมาณ 8 เม็ดค่ะ

 

2. ยาพาราเซตามอลแบบน้ำมีประเภทเดียว

     ยาพาราเซตามอลแบบน้ำ ส่วนมากจะเป็นยาสำหรับเด็กค่ะ ซึ่งในผู้ปกครองบางคนก็ไม่ได้สังเกตให้ดีและคิดว่ายาพาราเซตามอลแบบน้ำนั้น หากซื้อถูกต้องตามอายุของลูกก็คงจะเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงนั้น นอกจากจะต้องซื้อให้ตรงกับช่วงอายุของลูกแล้ว ยาพาราเซตามอลแบบน้ำ ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยค่ะ นั่นก็คือ แบบน้ำเชื่อมและแบบหยด ซึ่งแบบน้ำเชื่อมนั้นก็จะมีหลายรสชาติ เช่น รสส้ม รสสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น ซึ่งยาแบบน้ำเชื่อมนั้นจะค่อนข้างเจือจางและอันตรายน้อยกว่า แต่หากเป็นยาแบบหยดแล้วล่ะก็ จะมีตัวยาที่เข้มข้นมาก ผู้ปกครองต้องระมัดระวังอย่างมากในการป้อนยาให้กับเด็ก เพราะมีโอกาสที่เด็กจะได้รับยาเกินได้ ซึ่งเป็นอันตรายมากๆ ค่ะ

 

3. กินติดต่อกันได้

     ความเชื่อผิดๆ ข้อต่อมาคือการเชื่อว่ายาพาราเซตามอลนั้นไม่อันตรายและสามารถกินติดต่อกันได้ บางรายกินติดต่อกันเป็นเดือนแบบนี้น่าเป็นห่วงค่ะ เพราะยาพาราเซตามอลนั้นสามารถทำอันตรายกับตับของเราได้ ทำให้เอนไซม์ในตับมีปัญหา ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบไปจนถึงการเสียชีวิต หากเรามีอาการปวดมากๆ จนกินยาพาราเซตามอลเป็นเดือนๆ ก็ยังไม่หาย แสดงว่าร่างกายของเรามีปัญหาจริงๆ แล้วค่ะ เพราะปกติแล้วอาการปวดควรจะหายได้ภายใน 7 - 10 วัน แต่หากเรากินยาพาราติดต่อกันมาหลายอาทิตย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างจริงจังได้แล้ว

 

4. ยาพาราเซตามอลรักษาไข้หวัด

     ความเชื่อต่อมาคือการกินยาพาราเซตามอลเพื่อรักษาไข้หวัดได้ บอกเลยว่าข้อนี้ไม่เป็นความจริงเลยค่ะ เพราะยาพารานั้นเป็นยาแก้ปวดเพียงอย่างดียวและมีฤทธิ์ในการยับยั้งความปวดเท่านั้นค่ะ ในขณะที่ไข้หวัดหรือโรคหวัดนั้นเกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งหากเป็นกรณีติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ก็จะหายได้เองภายใน 5 - 7 วันค่ะ ส่วนในกรณีติดเชื้อแบคทีเรียก็ต้องได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาต่อไป ดังนั้นความเชื่อที่ว่าให้กินยาพาราเพื่อรักษาไข้หวัดจึงถือเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ

 

5. กินยาพาราเซตามอลเพื่อดักไข้

     รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เริ่มเจ็บคอ เหมือนว่าจะไม่สบาย หรือเพิ่งจะไปตากฝนมาก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นหวัดเลยกินยาพาราดักไว้ก่อน ความเชื่อแบบนี้ก็บอกเลยว่าไม่เป็นความจริงเลยค่ะ เพราะยาพาราเซตามอลนั้นสามารถออกฤทธิ์ได้ประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง หากเรากินยาพาราเพื่อดักไข้ตอน 4 โมงเย็น พอ 2 ทุ่มยาก็หมดฤทธิ์แล้วค่ะ ไม่สามารถที่จะดักไข้หรือป้องกันไข้อะไรได้ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือยาพาราเซตามอลนั้นมีฤทธิ์ช่วยในการแก้ปวดเท่านั้นค่ะ ไม่ถือเป็นยาแก้หวัดหรือลดไข้ได้เลย

 

     อีกข้อที่สำคัญคือการกินยาพาราเซตามอลแบบซ้ำซ้อนค่ะ เนื่องจากยาพารานั้นสามารถไปเป็นส่วนผสมในยาชนิดอื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาลดไข้ชนิดเม็ดบางยี่ห้ออาจจะมียาพาราเป็นส่วนผสมอยู่ หากเรากินยาลดไข้แล้วและกินยาพาราตาม ก็จะถือเป็นการกินยาซ้ำซ้อนได้ ตับต้องทำงานหนักเพื่อขับสารเหล่านี้ออกค่ะ ดังนั้นก่อนจะกินยาใดๆ ต้องอ่านฉลากให้ดีเพื่อป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนค่ะ

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี