6 โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ เลี่ยงกาแฟให้ได้ ก่อนอาการหนักไปกว่าเดิม
กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในคนวัยทำงานค่ะ เหมือนที่เราจะเห็นได้ในทุก ๆ เช้าที่มักจะมีหนุ่มสาววัยทำงานถือกาแฟกันคนละแก้วสองแก้วบางคนซื้อให้ตัวเองด้วย เพื่อนฝากซื้อด้วย หรือบางคนซื้อไปแช่ตู้เย็นเก็บไว้ดื่มตอนบ่าย ๆ แก้ง่วง
เพราะว่าในกาแฟนั้นมีคาเฟอีนช่วยกระตุ้นทำให้ร่างกายตื่นตัวและช่วยลดความง่วง หลายคนเมื่อได้ดื่มกาแฟก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ ช่วยให้เราจดจ่อกับงานได้ดี ในขณะที่บางคนหากวันไหนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟก็จะรู้สึกไม่สดชื่น ง่วงเหงาหาวนอน รวมไปถึงอาจจะมีอาการปวดหัวได้ ถึงแม้จะดูว่ากาแฟนั้นมีข้อดีมากมาย แต่จริง ๆ แล้วกาแฟนั้นจะเหมาะกับทุกคนหรือเปล่า โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง กาแฟจะทำให้โรคของเราอาการหนักขึ้นได้หรือไม่ วันนี้เราได้รวบรวม 6 โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ เพราะอาจกระตุ้นให้อาการหนักขึ้นได้ ใครที่เป็นโรคเหล่านี้อยู่ ต้องระวังค่ะ
6 โรคที่ห้ามดื่มกาแฟ
1. โรคขาดวิตามินบี 1
โรคนี้มักจะมาพร้อมกับอาการเหน็บชาบริเวณต่าง ๆ ค่ะ แต่จริง ๆ แล้วอาการเหน็บชาก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคนี้เสมอไป หลาย ๆ โรคก็มีอาการเหน็บชาได้เหมือนกัน ใครที่สงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรกันแน่ก็แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลให้แน่ชัดค่ะ ส่วนใครที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคขาดวิตามินบี 1 ก็แนะนำว่าไม่ควรที่จะดื่มกาแฟเลย เรียกว่าเป็นข้อห้ามเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะกาแฟสามารถเข้าไปลดการดูดซึมวิตามิน ซ้ำยังเพิ่มการขับออกของวิตามินบีไปกับปัสสาวะได้ด้วย ดังนั้นในคนที่เป็นโรคขาดวิตามินบี 1 ควรที่จะหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟอย่างเด็ดขาดค่ะ
2. โรคกระดูกพรุน
ผู้ที่หมดประจำเดือนแล้ว ผู้ที่ได้รับการตรวจว่ามีภาวะกระดูกพรุน รวมถึงผู้ที่กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพกและกระดูกข้อมือที่หักจากการล้มหรือบาดเจ็บเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่าเราอาจมีภาวะกระดูกพรุน ก็แนะนำให้เลี่ยงการดื่มกาแฟค่ะ เพราะกาแฟสามารถทำให้เกิดการสลายของแคลเซียมได้มากขึ้น เร่งการขับออกของแคลเซียมได้มากขึ้น และเร่งให้เราเกิดภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้นค่ะ ดังนั้นใครที่เป็นโรคกระดูกพรุนหรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคกระดูกพรุน แนะนำเลี่ยงการดื่มกาแฟค่ะ
3. โรคกระเพาะอาหาร
คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรหยุดดื่มกาแฟค่ะ เพราะกาแฟมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคกระเพาะแบบมีอาการตลอด ปวดท้องทุกวันหรือมีอาการของโรคกรดไหลย้อนทุกวัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟค่ะ แต่ถ้าหากใครที่อาการยังไม่มาก นาน ๆ จะมีอาการสักทีหรือมีอาการก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารที่ระคายเคืองกระเพาะ แบบนี้ก็ให้ลองสังเกตตัวเองค่ะ ว่าเมื่อเราดื่มกาแฟแล้วมีอาการหรือไม่ ถ้าดื่มแล้วไม่มีอาการอะไรก็อาจจะยังพอดื่มกาแฟได้ค่ะ
4. โรคความดันโลหิตสูง
เนื่องจากกาแฟจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและอาจทำให้ความดันสูงขึ้นได้ค่ะ แต่ในคนที่สามารถควบคุมระดับความดันได้และเคยดื่มกาแฟมากก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีข้อห้ามในการที่จะดื่มกาแฟต่อไป แต่สำหรับคนที่ควบคุมความดันยังไม่ได้ ก็แนะนำให้ลดการดื่มกาแฟลงหรือหยุดการดื่มกาแฟไปก่อนค่ะ ยิ่งโยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ และคนที่ไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อนเลย ก็ไม่แนะนำให้ดื่มค่ะ
5. โรคหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นโราคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้าหรือเร็วไป ในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจก็ควรจะต้องระวังในการดื่มกาแฟค่ะ เพราะหลังจากที่เราดื่มกาแฟแล้วก็อาจจะมีอาการใจสั่นได้ เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของหัวใจและทำให้หัวใจเต้นเร็วได้ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ยังควบคุมอาการของโรคไม่ได้ก็แนะนำให้เว้นการดื่มกาแฟไปก่อน ส่วนในคนที่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ รวมถึงก่อนหน้าก็เคยดื่มกาแฟมาก่อนอยู่แล้ว ก็ให้ระวังในเรื่องของปริมาณค่ะ ไม่ควรที่จะดื่มกาแฟเกิน 1-2 แก้ว มากสุดก็ไม่ควรเกิน 3 แก้วค่ะ
6. โรคเบาหวาน
สำหรับคนเป็นโรคเบาหวานนั้นก็ต้องบอกว่าแค่เฉพาะกาแฟอย่างเดียวก็ไม่ใช่ปัญหาค่ะ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเครื่องปรุงแต่งรสต่าง ๆ ที่ใส่ผสมลงไปในกาแฟต่างหาก ซึ่งพวกของแต่งรสไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ครีมเทียมหรือบางคนก็ผสมนมข้นหวานลงไป เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้นแนะนำให้คนที่เป็นโรคเบาหวานให้พยายายามดื่มกาแฟดำแบบไม่เติมน้ำตาลจะดีกว่าค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ
- เคล็ด ไม่ ลับ! 5 วิธีดื่มกาแฟ ให้ดีกับสุขภาพ คอกาแฟห้ามพลาด
- 5 โรคอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นได้หากดื่มกาแฟมากเกินไป ไม่อยากสุขภาพพัง ต้องระวัง !!