7 วิธีรักษา ลำไส้รั่ว ต้นเหตุภูมิแพ้ ผิวพัง ที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว!
ภาวะ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ชื่อนี้สาวๆ หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง บางคนก็อาจสงสัยว่า ลำไส้รั่ว คืออะไร รักษาอย่างไร ทำไมถึงเป็นกระแสพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ลำไส้รั่วเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาภูมิแพ้ ปัญหาผิว รวมถึงอีกหลายๆ โรคในปัจจุบัน ใครที่มีปัญหารู้สึกไม่สบายแต่หาสาเหตุไม่ได้ ลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าภาวะลำไส้รั่วกัน อาจจะเจอทางออกก็เป็นได้ค่ะ
ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) คืออะไร
"ลำไส้รั่ว" คือภาวะที่ลำไส้ทำงานผิดปกติไปจากเดิม ทำให้สิ่งแปลกปลอมและสารพิษสามารถเล็ดลอดจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ ตามมาได้
- ลำไส้ปกติ เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จะเรียงตัวเป็นระเบียบแนบชิดกัน ช่วยกรองและป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม สารพิษ และเชื้อโรคที่ไม่ดีรั่วไหลเข้าสู่กระแลเลือดได้ จะยอมให้ผ่านได้เฉพาะสารอาหารที่ร่างกายต้องการเท่านั้น ส่วนสารพิษ สิ่งแปลกปลอมและอาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์ จะส่งต่อเพื่อขับถ่ายออกจากร่างกาย เหมือนกำแพงที่แข็งแกร่ง
- ลำไส้รั่ว เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบซ้ำๆ จนผิดรูปไม่เรียงตัวชิดเหมือนเดิม ทำให้สารพิษ สารเคมี เชื้อโรคต่างๆ และสารอาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์สามารถรั่วไหลสู่กระแสเลือดได้ เหมือนกำแพงที่มีช่องโหว่
ลำไส้รั่ว มีอาการอะไรบ้าง
เคยไหมคะที่รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเอาซะเลย แต่ไปตรวจร่างกายแล้วผลก็ออกมาปกติดี หรือรักษาแล้วก็ยังไม่หายขาด กลับมาเป็นอีกเรื้อรังซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ลองมาเช็กกันดูนะคะ ว่าอาการแบบไหนที่บ่งชี้ว่าคุณอาจอยู่ในภาวะลำไส้รั่วบ้าง
- ท้องอืด มีแก๊สเยอะ รู้สึกแน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย
- มีผื่นแพ้หรือสิวเรื้อรัง รักษาไม่หาย
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แม้จะพักผ่อนเยอะแล้ว
- น้ำหนักขึ้นง่ายผิดปกติ
- มือเท้าเย็นโดยไม่ได้มีความผิดปกติของโรคต่อมไร้ท่ออื่นๆ (เช่น ไทรอยด์)
- ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อไม่ทราบสาเหตุ
- หงุดหงิดง่าย มีอารมณ์เศร้าบ่อยๆ หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย โดยไม่มีสาเหตุ
7 วิธีแก้ภาวะ ลำไส้รั่ว
1. ทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกส์
ในลำไส้ของเรามีจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่เรียกว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ ส่วน พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นอาหารของ Probiotic ที่มีส่วนช่วยให้ Probiotic เติบโตได้ดีขึ้น หากทั้งสองตัวนี้สมดุล ก็จะช่วยลดอาการลำไส้รั่วได้นั่นเองค่ะ
อาหารอะไรบ้างที่มี โพรไบโอติกส์ และ พรีไบโอติกส์ สูง คลิกดูเลย
- 6 อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ แก้ท้องผูก ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง พุงยุบไว
- 7 อาหารพรีไบโอติกส์สูง ดีกับลำไส้ ช่วยขับถ่าย ลดไขมัน
2. ลดอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ
มีอาหารหลายชนิดที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกายหากทานมากเกินไป กระทบรวมไปถึงลำไส้ด้วย ดังนั้นหากอยากให้ลำไส้สุขภาพดีไม่มีภาวะลำไส้รั่วล่ะก็ ควรเลี่ยงอาหารหวานๆ เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มหวานๆ ชา และกาแฟ นอกจากนี้หลายคนอาจมีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงหลังจากดื่มนม หรือทานอาหารที่มีนม (ยกเว้นโยเกิร์ต) ซึ่งจะไม่แสดงอาการทันที แต่เมื่อทานบ่อยๆ ก็จะเกิดอาการแพ้เรื้อรัง เช่น ท้องอืด แน่นท้อง และกระตุ้นอาการลำไส้แปรปรวนหรือกรดไหลย้อนได้ค่ะ
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตน
กลูเตนคือโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ใน ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวสเปลท์ ข้าวคามุท ข้าวบาร์เลย์ (Barley) และข้าวทริทิเคลี (Triticale) สำหรับคนที่ทานกลูเตนแล้วสังเกตได้ว่าตัวเองมักจะมีอาการท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ไม่สบายตัวตามมา ก็อาจเป็นได้ว่าคุณกำลังแพ้กลูเตนอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีกับลำไส้เอาซะเลย เพราะการแพ้ซ้ำๆ จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะลำไส้รั่วได้ เลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่าค่ะสาวๆ
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นยาอายุวัฒนะหรือ anti-aging ที่ดีที่สุดเลยล่ะค่ะ เพราะไม่ใช่แค่ช่วยให้ผิวสวยและภูมิคุ้มกันดีเท่านั้น แต่การนอนหลับยังทำให้ลำไส้สุขภาพดีอีกด้วย! เพราะขณะที่เรานอนหลับ ลำไส้จะหลั่งฮอร์โมน โมทิลิน (Motilin) ซึ่งสำคัญกับระบบย่อยอาหารไม่แพ้ฮอร์โมนอื่นๆ โดยจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทำให้อาหารที่ย่อยไม่หมดเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid colon) พร้อมสำหรับการขับถ่ายในตอนเช้า และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารที่ช่วยเคลียร์ลำไส้ให้สะอาด พร้อมสำหรับการย่อยอาหารมื้อต่อไปอีกด้วยค่ะ เห็นไหมว่าข้อดีรอบด้านจริงๆ นะ! หากใครอยากสุขภาพดีบอกลาลำไส้รั่ว ต้องเลิกอดนอน เลิกนอนดึกกันนะคะ
5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เมื่อพูดถึง เซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ หลายคนอาจนึกถึงสมองเป็นหลัก ขอบอกว่าลำไส้ก็สำคัญมากไม่แพ้กันค่ะ เพราะ 80-90% ของเซโรโทนินสร้างขึ้นที่ลำไส้นี่เอง ดังนั้นความเครียดสะสมจึงส่งผลเสียเป็นวงจร คือทำให้เซโรโทนินในสมองลดลง และทำให้ลำไส้เสียสมดุลไปด้วย ซึ่งเมื่อลำไส้เสียสมดุลก็จะผลิตเซโรโทนินได้น้อยลง วนกันไปอยู่แบบนี้ ทำให้อารมณ์ของเราเปลี่ยนแปลงง่ายและนอนหลับยาก ดังนั้นนอกจากดูแลอาหารการกินแล้ว ก็ต้องดูแลอารมณ์ของเราควบคู่ไปด้วย เพื่อผลลัพธ์การรักษาลำไส้รั่วที่ยั่งยืนแบบไม่ต้องพึ่งสารเคมีค่ะ
6. ทานยาอย่างเหมาะสม ไม่ทานยาเกินจำเป็น
ยาหลายชนิดมีผลต่อลำไส้ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะอย่างยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ ไม่ใด้ทำลายแค่แบคทีเรียที่ไม่ดี แต่ยังทำลายแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้อีกด้วย การทานยาเอง หยุดยาเอง หรือทานยามากเกินกว่าแพทย์สั่งจึงไม่เป็นผลดีต่อลำไส้เอามากๆ ดังนั้นจึงควรทานยาเท่าที่จำเป็น และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มทานหรือหยุดทานยาเสมอ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงต่อภาวะลำไส้รั่วค่ะ
6. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่มักมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง นอกจากทำให้อ้วนง่ายแล้ว ยังกระตุ้นการอักเสบบริเวณผนังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจนถึงขั้นลำไส้ทะลุได้หากดื่มในปริมาณมาก ดังนั้นหากคุณมีอาการของลำไส้รั่วอยู่แล้ว ก็ควรเซย์โนให้กับแอลกอฮอล์ไปก่อนจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ