โรคเตียงดูด หรือ Dysania คืออะไร? โรคที่ทำให้เราไม่อยากลุกจากเตียง
Dysania (ไดซาเนีย/ดีซาเนีย) เป็นคำที่ใช้อธิบายความยากลำบากในการลุกจากเตียงในตอนเช้า แม้ว่าคนๆ นั้นจะพักผ่อนเต็มที่แล้วก็ตาม อาการของ Dysania อาจยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาการทางการแพทย์ แต่เป็นอาการที่มักเกี่ยวข้องกับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรืออาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
ผู้ที่มีอาการ Dysania อาจมีบางวันที่พบว่าการตื่นเพื่อเริ่มต้นวันใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และอาจรู้สึกหนักใจกับการลุกจากเตียงเพื่อเผชิญกับความรับผิดชอบในแต่ละวัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความรู้สึกผิดและความคับข้องใจ และอาจส่งผลกระทบไปยังกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ รวมถึงอาจส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน
แม้ว่า Dysania จะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นความผิดปกติ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งการทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการ Dysania และการได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็สามารถช่วยให้แต่ละคนเอาชนะความรู้สึกนี้ได้และกลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Dysania
Dysania อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพต่างๆ ต่อไปนี้
1. กล้ามเนื้อสมองอักเสบ/กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (ME/CFS)
ผู้ที่มีอาการของโรค กล้ามเนื้อสมองอักเสบ และ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ME/CFS อาจรู้สึกเหนื่อยได้แม้ว่าจะนอนหลับสนิทหรือไม่ก็ตาม รวมถึงยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากทำกิจกรรมทางร่างกายหรือจิตใจที่มากเกินไป
2. ภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้าและดีซาเนียมีความเชื่อมโยงกัน นั่นเป็นเพราะภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการนอนหลับ และการอดนอนอาจทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม อาการซึมเศร้าเป็นภาวะที่รักษาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที
3. ความเศร้าโศก
หลายคนสามารถปรับตัวกับความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ ได้ แต่สำหรับบางคนกลับไม่ใช่แบบนั้น ช่วงเวลาของการสูญเสียมักจะส่งผลกระทบกับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ความโกรธ ความกังวล และความรู้สึกผิด ผลกระทบทางจิตใจเหล่านี้อาจส่งผลไปถึงสุขภาพทางกาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การลดลงของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจเป็นสาเหตุที่ไปรบกวนการนอนหลับได้ หากเมื่อไหร่ที่เรามีความเศร้าจนเกินกว่าจะรับมือได้ หรือสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากความเศร้าโศก แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การรักษาอย่างถูกวิธีอาจช่วยคืนความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่เราได้
4. ความผิดปกติของการนอนหลับ
ศูนย์สุขภาพและบูรณาการแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีความผิดปกติของการนอนที่แตกต่างกันเกือบ 80 แบบ และปัญหาในการนอนหลับต่าง ๆ นี้ อาจส่งผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและไม่สามารถลุกจากเตียงในตอนเช้าได้ โรคนอนไม่หลับและภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็เป็น 2 สาเหตุหลักของความผิดปกติของการนอนที่พบได้บ่อยทั่วโลก
หากคุณมีความผิดปกติของการนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถช่วยให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาได้ ซึ่งในบางครั้งอาจมรการสั่งจ่ายยา หรือแนะนำให้รับประทานอาหารเสริม เช่น เมลาโทนิน การบำบัดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ การนวด การฝังเข็ม การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหารและการออกกำลังกายก็อาจช่วยได้
5. ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
ภาวะไทรอยด์ก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังได้เช่นกัน ความรู้สึกอ่อนเพลียอาจเกิดขึ้นไปเป็นเดือนหรือเป็นปีหากไม่รักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การกินยาบางชนิด รวมถึงภาวะโรคต่างๆ เช่น โรคไบโพลาร์ การรักษามะเร็งบางชนิด ก็อาจรบกสนการทำงานของต่อมไทรอยด์และทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้ ซึ่งภาวะที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่ทำงานต่ำ สามารถรักษาได้ด้วยยาบางชนิดที่สามารถทดแทนฮอร์โมน
6. โรคหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด ก็อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากได้ หรือหากคุณสูบบุหรี่ มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วนหรือเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็อาจจะทำให้คุณอยู่ในภาวะเหนื่อยในตอนเช้าและไม่อยากลุกจากเตียง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและปอดได้
วิธีจัดการกับอาการ Dysania
การรักษากิจวัตรประจำวันพื้นฐาน สามารถช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวกับการตื่นนอนได้ และการฝึกนิสัยการนอนที่ดีก็อาจช่วยได้เช่นกัน
- ทำตามตารางเวลา : เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวันเพื่อช่วยควบคุมนาฬิกาชีวิต
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์และนิโคติน : เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้สามารถรบกวนการนอนหลับของคุณได้
- ลดเวลาการนอนกลางวัน : หากการงีบหลับในตอนกลางวันจะกระทบกับการนอนตอนกลางคืน เราก็แนะนำให้คุณลดเวลาการนอนกลางวันให้น้อยลง อย่านอนนานเกิน 30 นาที และอย่างีบหลับในช่วงบ่ายถึงเย็น
- ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายทุกวัน สามารถเพิ่มพลังงานและอาจช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็อย่าหักโหมและออกกำลังใกล้เวลานอนจนเกินไป
- จัดห้องให้น่านอน : แสงหรือเสียงที่มากเกินไปอาจทำให้หลับยาก ลองใช้ที่บังตา ที่อุดหู หรือเครื่องเพิ่มความชื้นเพื่อสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสบาย นอกจากนี้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าห้องนอนของคุณเย็นพอและไม่ร้อนจนเกินไป
- อยู่ห่างจากหน้าจอ : การใช้แท็บเล็ต โทรศัพท์ ทีวี แล็ปท็อป และอุปกรณ์อื่นๆ ก่อนเข้านอน สามารถรบกวนนาฬิกาชีวิตได้ และอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น ดังนั้นให้พยายามหยุดใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างน้อย 30 นาที - 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
เมื่อใดควรพบแพทย์
หากคุณรู้สึกว่าความต้องการนอนอยู่บนเตียงเริ่มส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ หน้าที่การงานรวมถึงชีวิตประจำวัน ลองปรึกษาผู้ให้บริการด้านสุขภาพหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอย่าลืมบอกอาการอื่นๆ ที่คุณกำลังประสบ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า ง่วงนอนมากเกินไปในตอนกลางวัน หรือมีอาการเหนื่อยล้า เพราะแพทย์จะสามารถประเมินอาการและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมให้ได้
ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมรับส่วนลด ผ่านแอปพลิเคชัน MorDee
บทความที่คุณอาจสนใจ
- รู้จัก โรคซึมเศร้า 8 แบบ อาการเข้าข่าย ควรปรึกษาจิตแพทย์
- 6 อาหารช่วยลดความวิตกกังวล ช่วยคลายเครียด อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ