6 อาหารสุขภาพ แต่กินมากเกินไปไม่ดี อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้ กินแต่พอดี!
อาหารสุขภาพ ได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เพราะมีส่วนช่วยบำรุงร่างกายและช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งหลายๆ คน เมื่อทราบว่าอาหารเหล่านี้ดีต่อสุขภาพ จึงเลือกที่จะกินบ่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ถ้าหากกินในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายตามมาได้นะคะ โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ 6 อย่างนี้ที่ควรกินแต่พอดีจึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพค่ะ!
1. ทูน่า
ทูน่า ไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือกระป๋อง แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะถือเป็นแหล่งของโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างไรก็ตามทูน่าอาจปนเปื้อน Methylmercury หรือ ปรอทเจือปนสารอินทรีย์ อันเนื่องมาจากมลพิษในมหาสมุทร ซึ่งสารชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดพัฒนาการที่ล่าช้าในเด็ก ปัญหาด้านการมองเห็น รวมถึงความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด โดยปรอทจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของทูน่า จึงทำให้ทูน่าที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะถูกนำไปทำเป็นสเต็กทูน่าหรือซูชิ ปนเปื้อนสารปรอทมากกว่าทูน่าพันธุ์เล็กๆ นั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคทูน่าไม่ให้มากจนเกินไป โดยเฉพาะเด็กและสตรีมีครรภ์ค่ะ
2. ชินนามอน หรือ อบเชย
ชินนามอน หรือ อบเชย ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเทศที่มีสรรพคุณทางยา กินแล้วดีต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็ง รวมถึงโรคทางระบบประสาทด้วยเช่นกันค่ะ อย่างไรก็ตามในอบเชยมี คูมาริน (Coumarin) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยอาจส่งผลให้เกิดพิษตับและมะเร็งได้ค่ะ
3. ผักตระกูลกะหล่ำ
ผักตระกูลกะหล่ำ ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี กะหล่ำดาว บรอกโคลี ผักเคล หรือผักคะน้า ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจ อย่างไรก็ตามในผักเหล่านี้จะมี ไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ที่จะไปรบกวนความสามารถของร่างกายในการดูดซับไอโอดีนได้ หรือที่เรียกว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) และอาจส่งผลให้เกิดอาการต่อมไทรอยด์โต น้ำหนักขึ้น ท้องผูก ผิวแห้ง และระดับพลังงานลดลงได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรบริโภคผักเหล่านี้ในปริมาณที่มากจนเกินไปนะคะ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อปัญหาต่อมไทรอยด์ค่ะ
4. ถั่วบราซิล
ถั่วบราซิล เรียกได้ว่าอุดมไปด้วยซีลีเนียมสูงมากว่าเนื้อสัตว์อีกค่ะ ซึ่งซีลีเนียมนั้นมีความสำคัญต่อร่างกายในการช่วยส่งเสริมการทำงานพื้นฐานหลายๆ อย่าง ตั้งแต่การสืบพันธุ์ไปจนถึงช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ป้องกันการเกิดมะเร็ง แถมยังทำงานเสริมกันกับวิตามินอีได้ดีอีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากร่างกายได้รับซีลีเนียมในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลให้เกิดอาการซีลีเนียมเป็นพิษ นำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินอาหาร ความจำ ท้องเสีย ผมร่วง เล็บเปราะ ลมหายใจเหม็น สีผิวเหลือง และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
5. โอเมก้า 3 และ น้ำมันปลา
กรดไขมันโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยลดการอักเสบ บำรุงสมอง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งโอเมก้า 3 ถือเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น แต่กลับมีอาหารน้อยชนิดที่จะอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ดังนั้นหลายๆ คนจึงเลือกที่จะกินเป็นอาหารเสริมแทน ซึ่งมักจะทำมาจากปลา, ตับปลา หรือสาหร่าย นั่นเอง
อย่างไรก็ตามการบริโภคโอเมก้า 3 มากจนเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ อย่างเช่น ภาวะเลือดบางหรือเลือดใส (Blood-thinning) โดยเฉพาะผู้ที่มีเลือดออกง่าย หรือกำลังใช้ยาที่ทำให้เลือดบางลง (Blood thinners) ซึ่งถือเป็นยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดที่เป็นอันตราย รวมถึงการบริโภคน้ำมันตับปลาในปริมาณมาก ก็อาจส่งผลให้ร่างกายได้รับวิตามินเอมากจนเกินไปได้ และทำให้เกิดอาการเป็นพิษเนื่องจากวิตามินเอสูง โดยเฉพาะในเด็กและสตรีมีครรภ์ที่ควรระวังเป็นอย่างมากค่ะ
6. กาแฟ
กาแฟ เครื่องดื่มสุดฮิตสำหรับใครหลายๆ คน แม้ว่าดื่มแล้วจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า รวมถึงยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคตับ เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคทางระบบประสาท โดยสารออกฤทธิ์ในกาแฟก็คือคาเฟอีนนั่นเอง ซึ่งหากได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจส่งผลเสียต่อระบบประสาท ทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกหงุดหงิด ปวดท้อง ใจสั่น และเกิดอาการสั่นของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งบางคนนั้นสามารถดื่มกาแฟได้มากตามต้องการ ในขณะที่บางคนอาจจะมีอาการผิดปกติอันเนื่องมาจากการได้รับคาเฟอีนที่มากจนเกินไปได้ค่ะ
บทความที่คุณอาจสนใจ