4 นิสัยตอนกลางวันที่ทำให้น้ำหนักขึ้น การกินมื้อเที่ยงแบบไหนทำให้อ้วน
มาเช็คกันว่าเรากำลังทำนิสัยแบบผิดๆ เหล่านี้ในตอนกลางวันช่วงมื้อเที่ยงของเราอยู่หรือไม่! เพราะนิสัยเหล่านี้อาจเป็นตัวการของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของเราได้ อยากลดน้ำหนักให้ได้ผล ต้องรีบปรับนิสัยการกินด่วนๆ เลย!
นิสัยตอนกลางวันที่ทำให้น้ำหนักขึ้น
1. ไม่ได้วางแผนมื้อกลางวันไว้ล่วงหน้า
การที่เราไม่ได้คิด ไม่ได้วางแผนว่าจะกินอะไรในมื้อกลางวันมาก่อน หรือมีเวลาคิดน้อย ตัดสินใจได้ในนาทีสุดท้ายว่าจะกินอะไร ก็อาจจะทำให้เราเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ แนะนำให้ตั้งเตือนตัวเองประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนพักเที่ยง เพราะเมื่อเราวางแผนหรือสั่งอาหารมื้อกลางวันอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนถึงเวลากิน เรามีโอกาสที่จะมีสติมากกว่า เลือกได้อย่างชาญฉลาด และจะสั่งอาหารที่มีแคลอรี่ไม่สูงเกินไปให้กับตัวเอง หรืออาจจะเตรียมของว่างที่ดีต่อสุขภาพไว้กินทุกๆ 3-4 ชั่วโมงก่อนเที่ยง เพื่อควบคุมความหิว เราจะได้ไม่ต้องกินมื้อเที่ยงหนักเกินไปอย่างหิวโหย โดยเฉพาะถ้าเป็นคนตื่นเช้ามากและกินอาหารเช้าเร็ว ก็มีโอกาสที่จะหิวมากในตอนกลางวัน
2. กินอาหารกลางวันหลังสถานการณ์เคร่งเครียดในที่ทำงาน
ความเครียดกับการกินอาหาร สัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์เคร่งเครียด อย่างเช่นในที่ประชุม ก่อนเวลากินอาหารกลางวัน ก็จะมีแนวโน้มที่จะเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ผ่านสถานการณ์เคร่งเครียดมา ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงเรื่องเครียดๆ ก่อนกินอาหารกลางวันจะดีกว่า
3. กินอาหารกลางวันหนักเกินไป
การกินอาหารกลางวันหนักๆ ในปริมาณมากๆ จะทำให้เราได้รับแคลอรี่ที่มากตามมา อีกทั้งยังทำให้มีแนวโน้มที่จะกินมื้อเย็นมากขึ้นตามมาด้วย เนื่องจากการกินอาหารที่มีแคลอรี่มากๆ ในคราวเดียว จะไปหยุดการผลิตฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณความอิ่มไปยังสมอง ทำให้สมองคิดว่าเรายังไม่อิ่มจากมื้อเที่ยง และทำให้เรากินเยอะเมื่อกลับถึงบ้าน ดังนั้นอาหารมื้อเที่ยงที่แนะนำคือ โปรตีนไม่ติดมัน 3-4 ออนซ์ เช่น ไก่หรือปลาย่าง, คาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผลไม้หรือธัญพืชเต็มเมล็ด, ไขมันดี 1-2 ช้อนโต๊ะ เช่น ถั่วหรือน้ำมันมะกอก ตามมาด้วยผักมากเท่าที่เราต้องการ
4. กินอาหารกลางวันร่วมกับผู้อื่น
แน่นอนว่าหลายคนมักจะกินอาหารมื้อเที่ยงด้วยกันในที่ทำงานอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเพื่อนเรากินเยอะด้วย เราก็มีโอกาสที่จะกินเยอะตามมา เพราะเรามักจะกินมากขึ้นเมื่ออยู่ท่ามกลางคนอื่นๆ ที่กินเยอะ อีกทั้งเมื่อเรากินอาหารร่วมกับผู้อื่น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองจะทำงานน้อยลง ทำให้เราควบคุมตัวเองในการกินได้น้อยลงนั่นเอง
บทความที่คุณอาจสนใจ