วิธีเลือกเจลล้างมือแอลกอฮอล์ และ วิธีการใช้เจลล้างมือที่ถูกต้อง ป้องกันเชื้อโรคได้จริง ไม่ถูกหลอก!
วันนี้เรามีวิธีเลือกเจลล้างมือแอลกอฮอล์ และ วิธีการใช้เจลล้างมือที่ถูกต้อง มาแนะนำค่ะ ...เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ในปัจจุบัน หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมากและหาซื้อได้ยาก โดยเฉพาะเจลล้างมือ ที่เริ่มมีการแชร์วิธีการทำเจลล้างมือใช้เองกันอย่างล้นหลาม รวมถึงการนำออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอีกด้วย
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจลล้างมือแบบไหนสามารถป้องกันเชื้อโรคได้จริง? ซึ่งปกติแล้วการผลิตเจลล้างมือออกจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องผ่านเกณฑ์ควบคุมคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เจลล้างมือขาดตลาด ทำให้ประชาชนต้องทำเจลล้างมือใช้กันเองหรือซื้อจากผู้ที่ทำเอง ซึ่งต้องควรระวังไว้ด้วยนะคะ เพราะเจลล้างมือที่ทำเองอาจไม่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อโรคได้จริง! นอกจากจะไม่ช่วยลดเชื้อโรคแล้วยังอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อีกด้วยค่ะ
รู้จักแอลกอฮอล์ 2 ชนิด
- เอทานอล (ethanol หรือ ethyl alcohol) นิยมนำมาทำเจลล้างมือ
- เมทานอล (methanol หรือ methyl alcohol) ห้ามใช้กับร่างกาย มักใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำเชื้อเพลิง หรือ ปนกับทินเนอร์สำหรับผสมแลคเกอร์
การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ซึ่งมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันตามความเข้มข้น ดังนี้
- ความเข้มข้น 70% นิยมทำเป็นเจลล้างมือ เนื่องจากจะไม่ระเหยเร็วเกินไป
- ความเข้มข้น 95% - 100% แอลกอฮอล์จะระเหยเร็วมากโดยที่ยังไม่ทันได้ฆ่าเชื้อ
- ความเข้มข้นน้อยกว่า 50% จะมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคน้อยมาก
วิธีเลือกเจลล้างมือที่ดี
- มีฉลากภาษาไทยระบุชื่อ, ส่วนผสม, วิธีใช้, ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือนำเข้า, วันเดือนปีที่ผลิต
- บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท สามารถป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ได้
- เจลล้างมือมีความหนืดเหมาะสม ใช้แล้วไม่เหนียวเหนอะหนะ
- เมื่อเทใส่ฝ่ามือแล้วเจลสามารถอยู่ในอุ้งมือได้ ไม่หก
- มีความคงตัวทางกายภาพ ไม่แยกชั้น
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ สังเกตได้จาก ไม่มีความเย็นจากการระเหยของแอลกอฮอล์ หรือมีการแยกชั้น จับเป็นก้อน ตกตะกอน และเปลี่ยนสี
วิธีใช้เจลล้างมือที่ถูกต้อง
- เทเจลล้างมือลงลนฝ่ามือ 2-3 มล.
- ถูเจลให้ทั่วมือประมาณ 20 วินาที
- ปล่อยให้เจลแอลกอฮอล์แห้งในอากาศ โดยไม่ต้องล้างออก
- ระวังอย่าเข้าใกล้เปลวไฟ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ เพราะแอกอฮอล์หากยังไม่แห้งจะสามารถติดไฟได้
- ไม่ควรใช้ในเด็กทารก บริเวณผิวบอบบางและผิวอักเสบ เช่น รอบดวงตา บริเวณที่มีสิว และบาดแผล
วิธีเก็บรักษาเจลล้างมือ
- เก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท
- ไม่ถูกแสงแดดหรือความร้อน เพราะอาจทำให้แอลกอฮอล์ระเหยและความเข้มข้นลดลงได้
ที่มา : สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทความที่คุณอาจสนใจ