5 วิธีหยุดคิดฟุ้งซ่านก่อนเข้านอน วิธีหยุดความคิดไม่ดี ทำให้จิตใจสงบ
ในทุก ๆ คืนเมื่อหัวถึงหมอนหลายคนมักมีปัญหาเรื่องของสมองไม่หยุดทำงาน ยิ่งอยู่ในที่เงียบ ๆ อย่างในห้องนอนบางคนก็เริ่มคิดมากถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ เช่น บางคนกังวลเรื่องงาน การเงิน ครอบครัว หรือเรื่องอื่น ๆ และการมัวแต่ครุ่นคิดก่อนนอนแบบนี้ก็สามารถทำลายนอนหลับของเราได้ด้วยค่ะ
หลายคนมีปัญหาเรื่องของการหมกมุ่นอยู่กับความคิดและความเครียด ซึ่งบรรดาความคิดวิตกกังวลทั้งหลายมักจะมาในตอนกลางคืนและยิ่งมากขึ้นในช่วงเวลาก่อนนอน เพราะความเงียบและความนิ่งของเวลาก่อนเข้านอนสามารถดึงความกังวล ความกลัว และความวิตกทั้งในอดีตและอนาคตออกมาได้ ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถหยุดความคิดฟุ้งซ่านที่ไม่มีประโยชน์เหล่านี้ และทำให้การนอนของเรากลับมาสงบสุขเหมือนเดิม วันนี้เรามีวิธีทำให้จิตใจสงบ หยุดความคิดฟุ้งซ่านก่อนเข้านอนมาฝากกันค่ะ
5 วิธีหยุดคิดฟุ้งซ่านก่อนเข้านอน
1. คิดในเชิงบวก
เพื่อทำลายนิสัยที่ก่อให้เกิดความคิดวิตกกังวล และสามารถส่งผลไปถึงการอดนอน นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ให้เราลองเน้นไปที่ด้านบวกของชีวิต เมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ลองพยายามเตือนสติตัวเองแล้วหันไปหาความคิดทางด้านบวกด้วยการนึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี คนที่ทำให้คุณรู้สึกดีหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของคุณ
2. ให้เวลาตัวเองได้ผ่อนคลาย
ระบบประสาทในร่างกายต้องการตัวชี้นำเพื่อให้ร่างกายรู้ว่าถึงเวลานอนได้แล้ว หลายคนจำเป็นต้องทำงาน ทำโปรเจกต์หรือดูรายการที่ทำให้อะดรีนาลีนสูบฉีด เช่น ข่าวกลางคืน ละคร หรือคลิปต่าง ๆ ในโลกโซเชี่ยลที่ทำให้เกิดความตื่นเต้น และด้วยเหตุนี้อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถผ่อนคลายก่อนเข้านอนได้ ดังนั้นก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอนจริง ๆ อย่างน้อย 30 นาที - 1 ชั่วโมง เราควรหยุดทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เริ่มคลายความเครียด แนะนำให้ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้วหันไปทำสมาธิ อ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่น หรือจิบชาคาโมมายล์อุ่น ๆ ก็ช่วยให้ร่างกายสงบลงได้
3. ลองใช้น้ำมันหอมระเหย
กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ และยังสามารถเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้ โดยเราอาจหยดลงบนหมอนหรือใช้กับเครื่องเพิ่มความชื้นภายในห้องนอน เนื่องจากลาเวนเดอร์ได้ขึ้นชื่อในเรื่องของการช่วยกดประสาท คลายเครียดและลดอาการวิตกกังวล
4. ฝึกการหายใจลึก ๆ และฝึกสติ
การหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ เป็นการส่งสัญญาณให้สมองได้รับรู้ถึงถึงความปลอดภัยและการผ่อนคลาย การหายใจลึก ๆ จะปิดระบบประสาทซิมพาเทติกและกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ซึ่งช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อน ย่อยอาหาร และนอนหลับ โดยในขณะหายใจเข้า ให้สังเกตว่าท้องพองขึ้นและขยายออกเหมือนลูกโป่ง และในขณะที่คุณหายใจออก ท้องก็ควรจะยุบลง และจะยิ่งเป็นประโยชน์อย่างมากหากในช่วงที่คุณกำลังหายใจด้วยวิธีนี้ คุณโฟกัสไปที่ขั้นตอนของการหายใจทั้งหมด โดยคุณอาจจะนับลมหายใจหรือคอยบอกตัวเองว่า "หายใจเข้า" เมื่อคุณกำลังหายใจเข้าและ "หายใจออก" เมื่อคุณกำลังหายใจออก
5. ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ขณะที่เรากำลังนอนอยู่บนเตียง ให้เกร็งและคลายกล้ามเนื้อในร่างกายทีละส่วน โดยเริ่มจากปลายเท้าและไปสิ้นสุดที่ศีรษะ วิธีการนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เราสามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกายแล้ว ยังบังคับให้เราได้คิดถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และดึงความสนใจของเราออกจากความคิดหรือความเครียดใด ๆ ที่กำลังจดจ่ออยู่ได้
บทความที่คุณอาจสนใจ
- 6 อาหารช่วยนอนหลับ มีสารทริปโตเฟนสูง ช่วยคลายเครียด ลดซึมเศร้า
- 4 เทคนิคนอนหลับลึก นอนหลับเร็ว หลับสนิททั้งคืนไม่อ่อนเพลียตอนเช้า