รีเซต

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) สาเหตุคืออะไร อาการแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นโรค

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) สาเหตุคืออะไร อาการแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นโรค
Beau_Monde
20 ธันวาคม 2564 ( 17:06 )
953

     โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder หรือ OCD) ถือเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล โดยผู้ป่วยจะมีความคิดซ้ำ ๆ และมีการตอบสนองต่อความคิดนั้น ๆ ด้วยพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยอาการเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเดิมซ้ำไปมา ซึ่งจะทำให้กระทบกับชีวิตประจำวันและกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ค่ะ

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ

 

1. พันธุกรรม 

     โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อนหรือฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกันก็สามารถเกิดโรคนี้ได้

 

2. สารสื่อนำประสาทผิดปกติ

     สารสื่อนำประสาทหรือเซโรโทนิน (serotonin) ผิดปกติ ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุนี้ การใช้ยาสำหรับโรคซึมเศร้าก็สามารถช่วยได้ค่ะ

 

3. สมองบางส่วนทำงานผิดปกติ

     เกิดจากสมองบางส่วนที่ทำงานผิดปกติไป โดยอาจจะมาจากสมองส่วนหน้า สมองส่วนแกนกลางหรือสมองส่วนใต้  

 

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ

 

     ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะแสดงอาการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มย้ำคิด (obsession) และกลุ่มย้ำทำ (compulsion) แต่โดยส่วนมากผู้ป่วยมักจะแสดงออกมาทั้ง 2 อาการค่ะ โดยอาการย้ำคิด คืออาการที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำ ๆ หรือเป็นความรู้สึกที่อยากจะทำอะไรบางอย่างซ้ำ ๆ ซึ่งอาการนี้ก็มักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการย้ำทำตามมา 

     อาการย้ำทำ คือการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความกังวลใจ เช่น ผู้ป่วยกลัวความสกปรกก็จะคิดวิตกกังวลว่าเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจึงย้ำทำด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งพอเวลาผ่านไปสักพักผู้ป่วยก็จะเกิดความวิตกกังวลเรื่องความสกปรกอีกและล้างมือซ้ำ ๆ อีก วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์ วิตกกังวล ขาดความมั่นใจและอาจจะลุกลามไปถึงการเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ

 

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

 

     การรักษาโรคนี้ในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือการใช้ยารักษาและการปรับพฤติกรรมค่ะ โดยแพทย์จะพิจารณาถึงระดับความรุนแรงของโรค ส่วนมากหากผู้ป่วยยังมีอาการไม่มาก แพทย์อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมด้วยการให้คนไข้พยายามฝึกคิดและฝึกทำ แต่หากลองปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย แพทย์ก็จะพิจารณาจ่ายยาเพื่อให้ผู้ป่วยได้บรรเทาอาการจากโรคนี้ค่ะ

 

การดูแลตัวเองเบื้องต้น

 

     ผู้ป่วยควรพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามลดความเครียดและวิตกกังวล หากเป็นไปได้ก็ให้ฝึกตนเองให้พยายามเพิกเฉยต่อความคิดที่เป็นการย้ำคิดย้ำทำ โดยอาจจะใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง ดูหนัง เป็นต้น

     นอกจากนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องอดทนกับการเข้ารับการบำบัดและฝึกตัวเองค่ะ

 

 

อ้างอิง

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิประโยชน์แนะนำ

แท็กยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง