3 เทคนิค กินไขมัน เพื่อลดไขมัน กินไขมันอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
ไขมัน ถือเป็นสารอาหารหนึ่งที่ร่างกายต้องการ และการกินอาหารให้สมดุลในแต่ละวัน จำเป็นต้องมีไขมันเป็นส่วนสำคัญด้วย ซึ่งไขมันนั้นไม่ใช่ตัวการร้ายที่น่ากลัวและก่อให้เกิดโรคเสมอไป หากเลือกกินไขมันได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี จะช่วยลดไขมันร้ายในร่างกาย และช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ วันนี้เราจึงมี 3 เทคนิค เลือกกินไขมัน ให้ดีต่อสุขภาพมาแนะนำกันค่ะ หากเลือกกินให้เป็นรับรองว่าโรคร้ายก็ไม่ถามหาอย่างแน่นอน!
ไขมันจำเป็นต่อร่างกายอย่างไร
ไขมันเป็นสารอาหารจำเป็น ซึ่งช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยในการดูซึมวิตามิน A, D, E, K และยังช่วยในการสร้างฮอร์โมนบางชนิดอีกด้วย โดยร่างกายต้องการไขมัน 20-35% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน ไขมันแบ่งออกเป็นไขมันอิ่มตัว มีมากในไขมันสัตว์ นม เนย ชีส น้ำมันมะพร้าวน้ำมันปาล์ม กะทิ, ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบมากในน้ำมันมะกอก ถั่วลิสง อะโวคาโด อัลมอนด์, ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบได้ในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และไขมันทรานส์ พบได้มากในอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม
3 เทคนิค กินไขมัน เพื่อลดไขมัน
1. ไม่กินอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์
การกินไขมันจะดีต่อสุขภาพ เมื่อมีการเลือกกินอย่างเหมาะสม ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เช่น ขนมอบ เบเกอรี่ต่างๆ ที่มักใช้มาร์การีน วิปปิ้งครีม เนยขาว เนยเทียม ชีส เป็นส่วนผสม เครื่องดื่มชง เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีครีมเทียม นมข้นหวาน นมข้นจืด และอาหารทอดซ้ำ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก มันฝรั่งทอด เนื่องจากไขมันทรานส์ เป้นไขมันที่มีการเปลี่ยนจากของเหลวเป็นของแข็ง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไป ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ระดับไขมันไม่ดี (LDL) สูงขึ้น และทำให้ระดับไขมันดี (HDL) ต่ำลง เป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งหากลดการกินอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ได้ก็จะช่วยลดไขมันไม่ดีในร่างกายไปในตัว
2. เลือกกินไขมันไม่อิ่มตัว
แนะนำให้เลือกกินไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว แทนไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม เนย ซึ่งไขมันไม่อิ่มตัวจะดีต่อสุขภาพมากกว่าไขมันอิ่มตัว และจะช่วยให้ระดับไขมันไม่ดี (LDL) ลดลง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ ทั้งนี้ควรเลือกกินไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งพบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย อะโวคาโด ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่างๆ
3. จำกัดการกินไขมันอิ่มตัว
แม้ว่าร่างกายจะต้องการไขมันไปเป็นพลังงาน แต่ก็ไม่ควรกินมากเกินไปค่ะ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ทั้งนี้ควรจำกัดการกินไขมันอิ่มตัวให้ไม่เกินวันละ 15 กรัม โดยสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ควรจำกัดปริมาณการกินไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เช่น ผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน สามารถกินไขมันอิ่มตัวได้ไม่เกิน 140 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือประมาณ 16 กรัม
ขอบคุณข้อมูลจาก :